เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ต.ท.มนต์ชัย บุญเลิศ รองผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ในฐานะพนักงานสืบสวนผู้กล่าวหาคดีเว็บการพนันที่มีนายตำรวจเข้าไปเกี่ยวพันได้ยื่นหนังสือ ร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด

ความว่าด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 ของกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทศโนโลยี 1 คดีระหว่างตนในฐานะ ผู้กล่าวหา กับนายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก รวม 61 คน ไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา142

คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้รับผิดชอบทำการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 อันเป็นการปฏิบัติการหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่กลับถูกกลุ่มผู้ต้องหากับพวก ฟ้องร้อง ร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ซึ้งได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นจับกุมกลุ่มผู้ต้องกับพวก จนกระทั่งคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาล รวมจำนวน 10 เรื่อง ดังนี้

1.เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ (ผู้ต้องหาที่ 23) กับพวกรวม 8 คน ผู้ต้องหาที่ 12, ที่ 20, ที่ 21, ที่ 22, ที่ 24, ที่ 25 และที่ 26 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล ของร้อยตำรวจเอก ฤทธิ์ธาดา เครือสุข (พนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ คดีอาญาที่ 468/2566 สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ) กรณียื่นคำร้องขอหมายจับ โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริงหรือให้ช้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อศาลผู้พิจารณาหมายจับและหมายค้นปกปิดยศข้าราชการตำรวจในการขอออกหมายจับและหมายค้น โดยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งผู้ร้องทั้งแปด อันเป็นเข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาล และขอให้มีการเพิกถอนหมายจับ หมายค้น และหมายขังดังกล่าว ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 พ.ย. 66 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วมีความเห็นว่า การร้องขอให้ออกหมายจับของผู้ร้อง มีพยานหลักฐานและรายละเอียดครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 66 แล้ว หมายจับที่ออกโดย ศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงเป็นหมายที่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์ยังไม่พอให้รับฟังว่าเป็นการประพฤติตน ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 พิจารณามีคำสั่งยกคำร้อง

2.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยื่นคำร้องขอเป็นธรรมต่อศาลอาญาเพื่อพิจารณาว่า การยื่นคำร้องขอออกหมายค้นมีการปกปิดข้อเท็จจริงถึงความเป็นเจ้าบ้านต่อศาลหรือไม่ ศาลอาญาจึงได้มีหมายนัดถึง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์) ผู้ยื่นคำร้องขอออกหมายค้นของศาลอาญา คำร้องที่ ค 416/2566 หมายค้นเลขที่ 416/2566 เพื่อนัดไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 โดยผลการพิจารณา ศาลอาญาได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า การยื่นคำร้องขอออกหมายค้นไม่ได้มีการปิดบังข้อเท็จจริงและไม่ได้มีการละเมิดอำนาจศาล

3.วันที่ 11 ต.ค. 2566 น.ส.ธันยนันท์ สุจริตชินศรี หรือมินนี่ (ผู้ต้องหาที่ 2) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ กับพวกรวม 12 คน เป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 184/2566 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการและความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วพบว่ายังไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 158(5) จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 จากนั้น ต่อมาในวันที่ 10 พ.ย. 2566 ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และจำหน่ายคดีออกสารบบความ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อท 241/2566

4.วันที่ 11 ต.ค. 66 พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ (ผู้ต้องหาที่ 21) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 141/2566 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ในฐานความผิด ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวหาว่าการตรวจยึดทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และ 157 )

5.วันที่ 28 พ.ย. 66 พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ (ผู้ต้องหาที่ 23) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.มนต์ชัย บุญเลิศ (ผู้กล่าวหา) พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ พ.ต.อ.ธรรมศักดิ์ สารบุญ และ ร.ต.อ.ฤทธิ์ธาดา เครือสุข รวม 4 คน เป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 203/2566 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวหาว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษ การยื่นคำร้องขอออกหมายจับหมายคัน การคัดค้านการขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาชั้นตรวจคำฟ้อง

6.นายกอบชัย อ่อนมณีวรรณ ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการเข้าถึงหรือเข้าใช้ข้อมูลส่วนบุคคล(ข้อมูลทะเบียนราษฎร์) ของ ร.ต.อ.ศิริวัฒน์ ต๊ะอาจ (พนักงานสืบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจ แห่งชาติที่ 593/2566) โดยกล่าวหาว่ามีการนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์และบัตรประจำตัวประชาชนของนายกอบชัย ไปผยแพร่ทำให้ได้รับความเสียหาย

7.นายณัฐพงศ์ พรรณทรัพย์ ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการเข้าถึงหรือเข้าใช้ข้อมูลส่วนบุคคล(ข้อมูลทะเบียนราษฎร์) ของ ร.ต.อ.ศิริวัฒน์ ต๊ะอาจ (พนักงานสืบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566) โดยกล่าวหาว่ามีการนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์และบัตรประจำตัวประชาชนของนายณัฐพงศ์ ไปเผยแพร่ทำให้ได้รับความเสียหาย

  1. นายณัฐพงศ์ พรรณทรัพย์ ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ ส.ต.อ.เกียรติพงศ์ ศรีสิงห์ (ผู้ใตับังคับบัญชาโดยตรงของ พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงชัย พนักงานสืบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566) โดยกล่าวหาว่ามีการนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์และบัตรประจำตัวประชาชนของนายณัฐพงศ์ ไปเผยแพร่ทำให้ได้รับความเสียหาย

9.นายณัฐพงศ์ พรรณทรัพย์ ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการเข้าถึงหรือเข้าใช้ข้อมูลส่วนบุคคล (ข้อมูลทะเบียนราษฎร์) ของ ส.ต.อ.ชัยชุมพล อัครวโรทัย (พนักงานสืบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566) โดยกล่าวหาว่ามีการนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์และบัตรประจำตัวประชาชนของนายณัฐพงศ์ ไปเผยแพร่ทำให้ได้รับความเสียหาย

10.เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 66 พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย (ผู้ต้องหาที่ 24) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ กับพวก รวม 244 คน เป็นจำเลย (กล่าวคือ คณะพนักงาน สืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง ตร.ที่ 593/2566 ลงวันที่ 25 ต.ค. 66 พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 224/2566 ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดขวางกระบวนการสำนวนการสวนสอบสวน และดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหากับพวก ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหากับพวกได้อาศัยเหตุที่ได้มีการฟ้องร้องดังกล่าว มาเป็นข้ออ้างในการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจที่เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนว่าเป็นคู่กรณี หรือคู่ขัดแย้งพร้อมทั้งร้องขอให้มีการเปลี่ยนตัวคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ทั้งที่การดำเนินการของ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่คู่ขัดแย้ง ซึ่งเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน

นอกจากนี้ พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย (ผู้ต้องหาที่ 20) กับพวกรวม 8 คน ยังได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในการให้คำแนะนำปรึกษาการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ทั้งที่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด และการให้คำแนะนำปรึกษาดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อความละเอียดรอบคอบในการทำสำนวนการสอบสวนให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายและยังเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่กลุ่มผู้ต้องหา เหตุเพราะเป็นคดีที่มีการกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจกระทำความผิด คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงได้เชิญหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมให้คำแนะนำปรึกษาด้วย

ซึ่งนอกจากพนักงานอัยการแล้ว ยังมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเข้าร่วมด้วย การที่กลุ่มผู้ต้องหาร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการพร้อมทั้งแนบภาพถ่ายในลักษณะเจตนาให้เข้าใจว่ามีผู้เฝ้าติดตาม และฟ้องร้องหรือร้องเรียนคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงน่าเชื่อว่ากลุ่มผู้ต้องหากระทำการด้วยเจตนาไม่สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนตนในทางคดี เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ย่อมกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการและคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ทำให้การสอบสวนเพิ่มเติมเป็นไปอย่างล่าช้าเพราะ เหตุที่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงและแก้ต่างคดี และการที่กลุ่มผู้ต้องหาบางรายซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจผู้มีความรู้ ด้านกฎหมาย กลับนำความมาฟ้องหรือร้องเรียนคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับความผิดอาญาโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีความผิดอาญาเกิดขึ้น ทำให้ข้าราชการตำรวจที่ถูกร้องหรือร้องเรียนดังกล่าว เสื่อมเสียต่อชื่อเสียง มีมลทินมัวหมองเพราะต้องหาคดีอาญา และอาจเข้าข่ายเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา

ดังนั้น จึงขอให้ท่านได้อำนวยความยุติธรรม กำชับกำกับการพิจารณาวินิจฉัยสำนวนในชั้นพนักงานอัยการตามระเบียบกฎหมายมิให้เนิ่นช้า เพราะเป็นคดีสำคัญและเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและทำให้ความชอบธรรมปรากฎ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเป็นข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาและบังคับใช้กฎหมาย แต่กลับถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหาเสียเอง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายต่อชื่อเสียงของบรรดาเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เรียกความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุดิธรรมและเพื่อประโยชน์ของทางราชการและอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดต่อไป.