เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับขบวนรถไฟ SRT Royal Blossom ชุดแรก จำนวน 5 คัน ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมทั้งภายใน และภายนอกขบวนรถพร้อมทั้งร่วมทดสอบขบวนรถดังกล่าวในเส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ลำปาง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้นำมาจอดแสดงโชว์ในวันเปิดงานเทศกาลสวนรถไฟ สะพานดำ @ลำปาง ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงค่ำคืนวันที่ 16 มี.ค. เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมความสวยงามของขบวนรถไฟ SRT Royal Blossom ด้วย

นายนิรุฒ กล่าวว่า SRT Royal Blossom  เป็นขบวนรถไฟ ฮามานะสุ (Hamanasu) ที่รับมอบมาจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น 10 คัน  ประกอบด้วย รถ OHA (ไม่มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) ชนิด 48 ที่นั่ง และ 72 ที่นั่ง 5 คัน และรถ SUHAFU (มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) ชนิด 64 ที่นั่ง 5 คัน เมื่อปลายปี 59 โดยจะนำมาเป็นรถนำเที่ยวขบวนล่าสุด ของ รฟท. ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงใกล้แล้วเสร็จ 5 คัน จะเปิดให้บริการกลางปี 67 ทั้งนี้ “Royal Blossom” สื่อความหมายถึง “การเบ่งบาน และเติบโตของ รฟท.” โดยเบื้องต้นจะเปิดให้บริการในเส้นทางระยะใกล้ และเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมก่อน อาทิ ฉะเชิงเทรา, กาญจนบุรี, หัวหิน และเขื่อนป่าสักฯ จ.ลพบุรี โดยจะเป็นการให้บริการในรูปแบบเช้าไปเย็นกลับ (วันเดย์ทริป) ส่วนอัตราค่าโดยสารอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ยืนยันว่าจะเป็นราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยจะเร่งปรับปรุงอีก 5 คัน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 67

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า รฟท. ได้ดำเนินการว่าจ้างปรับปรุงรถไฟ วงเงินประมาณ 80 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ปรับปรุงรถล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาในขั้นตอนการประกวดราคาหาผู้รับจ้างมาปรับปรุงตัวรถ รวมทั้งขั้นตอนออกแบบ ซึ่ง รฟท. ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เนื่องจากแบบเดิมเน้นเอกลักษณ์เฉพาะเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง เช่น เส้นทางลำปาง-เชียงใหม่ เน้นธีมทางเหนือ จึงให้ปรับแบบเล็กน้อย เพื่อให้รูปแบบ และการตกแต่งภายในมีความสวยงาม และคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย สามารถเดินรถได้ทุกเส้นทางทั่วประเทศ

สำหรับรายละเอียดการปรับปรุง ภายนอกตู้ SRT Royal Blossom ถูกแต่งแต้มสีสันภายนอกทำสีใหม่ให้เป็นเฉดสีแดงคาดลายสีทอง สีของกลีบดอกไม้ ที่มีความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขบวนรถไฟท่องเที่ยวชุดนี้ด้านหน้า และด้านข้างตัวรถจะมีสัญลักษณ์เป็นโลโก้ “STATE RAILWAY OF THAILAND ROYAL BLOSSOM SINCE–2022″ คู่กับดอกชัยพฤกษ์ ถูกวางบนหน้าปัดนาฬิกา ตัวเลขโรมัน และเข็มนาฬิกาชี้ไปที่ตัวเลข 13 เป็นการเปรียบเทียบถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Hamanasu จนเป็น SRT Royal Blossom จะสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขและความพิเศษที่จะเกิดขึ้นกับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟในประเทศไทย  

การตกแต่งภายในตัวรถด้วยความพิถีพิถัน โดยทำเบาะหุ้มที่นั่งใหม่เป็นเบาะกำมะหยี่ เปลี่ยนผ้าม่านที่สามารถปรับระดับได้ เปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED รวมถึงส่วนประกอบหลักของงานตกแต่งที่ทำจากไม้สนซีดาร์ เป็นเนื้อไม้ที่มีความสวยงาม และทนทานต่อการใช้งาน การติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลง ที่ใช้สำหรับรองรับชานชาลาสูงและต่ำโดยใช้วัสดุจากไม้สัก และขลิบด้วยทองเหลืองแท้ที่พับเก็บได้ 

ตลอดจนการออกแบบหน้าต่างพร้อมกรอบโลหะสีทอง ที่มีขนาดความกว้างพิเศษ ชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างกว่ารถโดยสารทั่วไป และยังติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทุกตู้ ขณะที่งานด้านเทคนิค ปรับปรุงระบบห้ามล้อ และปรับปรุงแคร่และความกว้างของเพลาล้อใหม่ จากเดิม 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย การปรับปรุงระบบปรับอากาศ การปรับปรุงระบบไฟฟ้าโดยใช้เครื่องยนต์จากรถ Power Car ในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ช่วยลดมลภาวะทางเสียงและอากาศ เปลี่ยนปลั๊กไฟจาก 110 โวลต์ ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ให้เป็น 220 โวลต์ โดยได้ติดตั้งปลั๊กแบบมาตรฐาน และ USB Port เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน เปลี่ยนห้องสุขาให้เป็นระบบสุญญากาศระบบเดียวกับเครื่องบิน เปลี่ยนถังเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม รวมถึงเปลี่ยนชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลที่สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารอื่นได้

ตู้โดยสารทั้ง 5 คัน แบ่งออกเป็น ตู้ที่ 1 Group Car  1 คัน โดยดัดแปลงให้เป็นห้องโดยสารแบบกลุ่มส่วนตัว 4 ห้อง แต่ละห้องรองรับได้ 4-6 คน ชมวิวทิวทัศน์ได้กว่า 180 องศา ประตูเซ็นเซอร์ มีทางเดินที่กว้างขวาง สะดวกสบายรองรับรถวีลแชร์ นอกจากนี้ ยังมีลิฟต์ขนาดใหญ่  2 ตัว และห้องน้ำสำหรับรองรับผู้พิการด้วย 2.รถโดยสาร Passenger Car  3 คัน โดยดัดแปลงเป็นห้องโดยสารแบบรวม มีทั้งหมด 48 ที่นั่ง/คัน โดยที่นั่งมีทั้งแบบหันหน้าเข้าหาหน้าต่างเพื่อชมวิว หรือปรับเบาะหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำกิจกรรมในกลุ่มเพื่อนได้ พร้อมทั้งช่องเสียบสาย USB ทุกที่นั่ง ซึ่งแต่ละตู้จะมีเบาะที่นั่งที่มีสีสันต่างกัน สื่อถึงการเดินทางในแต่ละครั้ง ผู้โดยสารจะได้รับความประทับใจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เปรียบเหมือนการเบ่งบานของดอกไม้ในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีอีก 8 ที่นั่งที่แยกออกมาสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

และ 3.รถโดยสาร Leisure Car  1 คัน ดัดแปลงให้เป็นรถเสบียง สำหรับให้บริการอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้โดยสารสามารถมาใช้บริการหรือซื้อกลับไปรับประทานที่ตู้โดยสารได้ ภายในออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้อยู่ตรงกลาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินด้านข้างได้ทั้ง 2 ด้าน มีพื้นที่กว้างขวางสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และกระจกมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษสามารถนั่งชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างสบาย นอกจากนี้บริเวณด้านท้ายตู้มีพื้นที่โล่งที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมายืดเส้นยืดสายพักผ่อนอิริยาบถได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตู้รถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศฮามานะสุของประเทศญี่ปุ่น ผลิตเมื่อปี ค.ศ. 1988 เคยให้บริการเป็นขบวนรถด่วนที่มีชื่อว่า ฮามานะสุ เส้นทางเชื่อมระหว่างเกาะฮอกไกโดข้ามไปเกาะฮอนชู จากสถานีซัปโปโรไปถึงสถานีอะโอโมริ ให้บริการเที่ยวสุดท้ายที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 มี.ค.59 ชื่อ ฮามานะสุ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ดอกกุหลาบญี่ปุ่น ถือเป็นดอกไม้ประจำเกาะฮอกไกโด.