ภายหลังจากสื่อ 2 สำนักใหญ่ ได้ร่วมกันจัดทำ โพลเลือกตั้ง 66 “เดลินิวส์ X มติชน” ครั้งประวัติศาสตร์ โดยสำรวจความคิดเห็น 2 ครั้ง ก่อนการเลือกตั้งในช่วงเดือน เม.ย. 66 ผ่านทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll และเว็บไซต์เครือมติชน รวมถึงการสแกนผ่านทางระบบคิวอาร์โค้ด มีประชาชนทั่วประเทศกว่า 1.5 แสนคน เข้าร่วมกิจกรรม กระทั่งปิดการโหวตโพล ยังจัดเวที “วิเคราะห์ผลโพลสู่ผลเลือกตั้ง ฟันธงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 2566 สะท้อนอนาคตการเมืองไทย” จนสร้างความฮือฮาให้กับทั้งวงการสื่อมวลชนและแวดวงการเมืองไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลโพลระบุชัดว่า พรรคก้าวไกลมีคะแนนนำโด่ง และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ก็ได้รับโหวตมาเป็นอันดับ 1 เช่นกัน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ถ้ามองโพลเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้สึกและบรรยากาศการเลือกตั้ง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะจุดประสงค์ของการทำโพล ไม่ใช่เพื่อคาดเดาหรือคล้ายกับการเล่นพนัน จุดประสงค์ของโพล ไม่ควรเป็นไปเพื่อการตัดสินผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง โพลแสดงให้เห็นกระแสของความเปลี่ยนแปลง หรือกระแสความนิยมของประชาชนต่อผู้สมัคร การทำโพล “เดลินิวส์ X มติชน” เป็นการทำโพลแบบออร์แกนิก หมายความว่า ผู้ที่ตอบแบบสำรวจมีความสนใจและมีความกระตือรือร้นที่จะลงมือทำโพลด้วยตนเอง หมายความว่า เขามีเจตจำนงที่จะแสดงความรู้สึก ความนิยมส่วนตัวของเขาออกมา เพื่อให้ผลของโพลสะท้อนความรู้สึกของผู้ตอบแบบสอบถาม

ผศ.อัครพงษ์ อธิบายต่อว่า โพลจึงเป็นเครื่องมือในการวัดกระแสความนิยมของประชาชน ไม่สามารถวัดผลการเลือกตั้งได้ แต่บังเอิญว่าในกระแสยุคของโลก Information technology หรือโลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนเข้าถึงการตอบแบบสอบถามได้ง่าย และสามารถทำได้ภายในเวลาอันสั้น ถ้ามีคำถามว่า มีการระดมคนมาโหวตไหม ก็ต้องตอบว่า ในการโหวตครั้งที่ 1 มี 84,000 ตัวอย่าง ถ้ามีการระดมคนมาโหวต มันต้องมากกว่า 84,000 คน เพราะว่าครั้งแรกพิธานำ พรรคอื่นๆ เห็นว่าพิธา นำ ทำไมไม่รู้สึกว่าตัวเองจะต้องมาทำให้มันมากกว่า แม้แต่คนที่นิยมชมชอบคุณพิธา ทำไมไม่ระดมกันมาให้มากกว่านี้ ทำไมรอบ 2 ได้แค่ 78,000 คน ถ้า 84,000 เป็น 120,000 หรือ 200,000 อันนี้ผลโพลจะต้องถูกตั้งข้อสงสัย ว่ามีกระบวนการจัดตั้งระดมคนมาทำโพลหรือไม่

“ผลโพลครั้งที่ 2 เหลือเพียงแค่ 78,000 คน สามารถลดความกังวลในข้อสงสัยว่า จะมีการระดมคนมาโหวต หรือแม้กระทั่งถ้ามีการระดมคนมาโหวตจริง การอ่านผลของทีมผู้ทำโพล ก็ได้ตัดการซ้ำของการโหวตออกไปบวกลบ 12-13% แล้ว โพล “เดลินิวส์ X มติชน” สะท้อนกระแสของผู้คน ซึ่งให้ความนิยมชมชอบในตัวบุคคลและพรรคการเมือง แต่อาจจะไม่สะท้อนจำนวนเขตเลือกตั้ง แต่โพลที่เกิดขึ้น มันก็สร้างบรรยากาศให้ผู้คนรู้สึกว่า ประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการผู้นำแบบใหม่ หรือผู้นำที่ไม่ใช่พรรคการเมืองรัฐบาลเดิม”

อย่างไรก็ดี โพลมีข้อผิดพลาดและต้องนำไปแก้ไขตรงที่ หากมีการสำรวจในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องปรับปรุงให้สามารถดูรายเขตได้ หมายความว่าเขาต้องรู้ว่าเขาอยู่เขตไหน แล้วเขาก็ตอบผลโพลตามรายเขตนั้น ไม่ใช่รายจังหวัดอีกแล้ว สำหรับจุดแข็งโพล “เดลินิวส์ X มติชน” มี 3 จุด 1.เข้าถึงง่าย มีคนตอบหลากหลาย และมีคนมีชื่อเสียงเข้ามาร่วมดำเนินการ 2.เป็นการแสดงเจตจำนงของสื่อมวลชน ที่จะสร้างบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3.เป็นการส่งสัญญาณให้พรรคการเมือง ให้ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร และรับมือกับ Digital Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยี

ข้อที่ควรปรับปรุงมี 3 ข้อ 1.โพลสะท้อนเพียงความนิยมของพรรคการเมืองและตัวบุคคล สามารถแปลงเป็นตัวเลขของปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น หากไปดูตัวเลขปาร์ตี้ลิสต์มันตรง 2.โพลไม่สามารถสะท้อนคะแนนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ ในการทำงานครั้งต่อไป ต้องเพิ่มรายละเอียดว่า ท่านอยู่เขตไหน เลือกใคร ทำแบบเลือกตั้ง และ 3.โพลยังไม่สามารถสะท้อนกลุ่มตัวอย่างประชากรได้อย่างเหมาะสม เช่น โพลนี้มีผู้ชายมากเกินไป การสำรวจนี้ยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างได้หลากหลายเพียงพอ กลุ่มตัวอย่างที่มาตอบเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ ผู้มีการศึกษาปริญญาตรี และเป็นผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชน ข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเป็นผู้มีรายได้สูง

ต้องขอบคุณเดลินิวส์และมติชน ที่มีกุศลเจตนารมณ์อันดีที่จะช่วยกันสร้างสังคมอารยะ เพราะโพลจะสามารถลดกระสุนหรือการคอร์รัปชั่น การซื้อสิทธิขายเสียงได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็สร้างความตระหนักให้ประชาชนและพรรคการเมือง ให้หันมาเล่นการเมืองสร้างสรรค์ เน้นนโยบาย ไม่ไปเน้นที่การลงทุนทางการเมือง แล้วมาถอนทุนกอบโกยเอาทีหลัง