เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคณะจำนวน 98 คน เป็นผู้เสนอ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ คงหมายถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ คือรัฐบาลของนายจุรินทร์ เป็นผู้บริหารประเทศร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น รัฐบาลของท่านในวันเดียวก็อนุญาตให้นายทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ อยู่ชั้นที่ 14 ถ้าเป็นการกระทำในยุคของท่าน ท่านจะใช้คำพูดอีกแบบหนึ่ง แต่พอเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาในยุคปัจจุบันท่านกล่าวว่าเป็นการทำร้ายกระบวนการยุติธรรม

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายจุรินทร์ เป็นผู้ออกกฎหมาย กฎกระทรวงที่ออกเมื่อปี 2563-64 ท่านนั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) กฎกระทรวงจึงเป็นกฎกระทรวงของท่าน ที่บอกว่า “คุกทิพย์” นี่คือเลวร้ายมาก เมื่อเราเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 คือเมื่อผู้ป่วยต้องให้ส่งรักษา เมื่อไปดูเจตนารมณ์ในกฎหมายไม่ให้ รมว.ยุติธรรมหรือกรมราชทัณฑ์มีดุลพินิจเลย ให้ใช้ความเห็นของแพทย์และเมื่อแพทย์ส่งไปรักษายังระบุว่าให้โรงพยาบาลที่รักษาคือสถานที่จำคุกอื่น อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ไปอยู่ในกฎหมายและกฎกระทรวงที่นายจุรินทร์ เป็นผู้มีความเห็นชอบเพราะไปดูในมติ ครม. ท่านไม่ได้มีค้านเลย

“นี่คือสิ่งที่อยากชี้ให้เห็นวันนี้ท่านทำให้สังคมสับสนว่าคนที่ไปควบคุมอยู่โรงพยาบาลไม่ใช่เรือนจำในเมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะนั้น ทุกคนที่ออกไปรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำก็หักเวลาติดคุกเท่ากัน ไม่ได้มีการให้ติดคุกเพิ่ม ท่านอาจจะชอบหรือไม่ชอบกฎหมาย แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่กฎหมาย ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำของฝ่ายท่าน ท่านจะคิดอีกแบบหนึ่งหรือไม่ อันนี้ผมสอบถาม ผมไม่มีอะไรกับท่าน จริงๆ ก็เคารพ แต่ไม่อยากให้สังคมมีความสับสน” รมว.ยุติธรรม กล่าว

ทำให้นายจุรินทร์ ลุกขึ้นโต้กลับทันทีว่า ตรรกะของท่าน ก็คือถ้ากฎหมายเกิดสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มาถึงรัฐบาลนี้ ท่านจะทำถูกทำผิดอย่างไรก็ได้เหรอ ถ้าตรรกะแบบนี้มันตรรกะวิบัติ ตนอภิปรายเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลนี้เต็มร้อย คือระเบียบที่คนที่ติดคุกที่บ้าน จะรวมคดีคอร์รัปชั่นหรือไม่ มันอยู่ที่ท่านแล้ว ถ้าท่านมองมุมกลับจะมองว่าเป็นการส่งเสริมให้คอร์รัปชั่น รวมถึงเรื่องนิรโทษกรรมจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ตนจึงต้องถามว่า จะรวมคดีทุจริตและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 157 หรือไม่.