เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมสภา ถึงประเด็นความชัดเจนของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขออย่าคาดเดาในรายละเอียดที่เตรียมแถลงรายละเอียดวันที่ 10 เม.ย. เนื่องจากจะสร้างความสับสน อย่างไรก็ดี นโยบายที่กำลังดำเนินการนั้น อยู่ระหว่างการแก้ไข ทั้งนี้ยินดีที่จะถูกตรวจสอบเป็นระยะและพร้อมรับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยตนเชื่อว่าเมื่อครบวาระของรัฐบาล และตัดเกรด หวังว่าจะได้ส่งการบ้านให้ประชาชน

นายจุลพันธ์ ชี้แจงด้วยว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตนั้นยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ ทั้งจำนวนคนเข้าสู่โครงการ แหล่งเงิน เพราะต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้กฎหมายและข้อเสนอแนะของหน่วยงานเพื่อให้เกิดการเดินหน้าที่เป็นประโยชน์ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เปลี่ยน 5-6 ครั้ง ตามที่อภิปราย เพราะบางอย่างที่รายงานต่อสภา และตามที่สิ่งที่อภิปรายไปนั้นเป็นการคาดเดา ไม่ใช่มาจากคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต หรือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ หรือตน อย่างไรก็ดี การประชุมของคณะกรรมการฯ นั้น เชื่อว่าจะมีกลไกที่ทำให้เดินหน้าได้ตามกรอบของกฎหมาย

“อยากให้ลดการคาดเดาลงเพราะอีกไม่กี่วัน 10 เม.ย. จะแถลงให้ชัดเจน ผมพูดไม่ได้วันนี้ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ หากพูดเท่ากับชี้นำไม่ถูกขั้นตอน รอไม่นานและไม่อยากคาดเดา หากผิดต้องหน้าแตกอีก ไม่จำเป็น ผมรอให้ชัดเจน เพื่อจบและสมบูรณ์” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ ยังชี้แจงประเด็นนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ว่า มีกลไกรัฐบาลกลั่นกรองโครงการเริ่มต้น ดูคำขอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภา กลไกติดตามกำกับใช้จ่ายงบประมาณ ถือเป็นกลไกตามระเบียบที่มีศักยภาพ ทำงานติดตามการใช้งบประมาณได้ ดังนั้นอย่าติดป้ายว่าทับซ้อนหรือทุจริตใดๆ แต่ภาครัฐ นายกฯ และครม. ไม่ละเลยจะติดตามใกล้ชิดต่อไป.