เมื่อวันที่ 3 เม.ย. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงการพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไป 2 เรื่อง คือ การดำเนินคดี ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน เรื่องคดีจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนจะมีการสรุปการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวน โดยมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้อง หรือไม่สั่งฟ้อง ไปยังอัยการ หากอัยการสั่งฟ้องก็จะส่งต่อไปที่ศาล หากสั่งไม่ฟ้องจะต้องส่งสำนวนกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อมีความเห็น ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นแย้งไม่เห็นด้วยกับอัยการ ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อสั่งวินิจฉัยชี้ขาด

พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า หากชี้ขาดประการใดก็ยุติไปตามนั้น หากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเมื่อมีการฟ้องร้องต่อศาลจะเป็นไปตามกระบวนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ ก็ไปดำเนินการในเรื่องของการพิจารณาในชั้นศาล จนศาลมีคำพิพากษาตัดสินจะศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็อยู่ที่ข้อเท็จจริงของการตัดสินแต่ละศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ตามกรอบระยะเวลา ซึ่งจะใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณาคดีนี้

พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า อีกส่วนหนึ่งกรณีข้าราชการต้องหาคดีอาญา จะต้องมีการรายงานโดยตัวผู้ถูกกล่าวหาคือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงแม้ในขณะนี้จะไปช่วยราชการอยู่ แต่มีรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ เพื่อให้มีการพิจารณาดำเนินการทางวินัย ซึ่งรายงานดังกล่าวจะประกอบกับรายงานส่วนที่พนักงานสอบสวนที่รับเรื่องที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามอบตัวได้รายงานพฤติกรรมเกี่ยวกับคดี ส่งมาให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง หรือตั้งกรรมการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัย ก็อยู่ในดุลพินิจหรือในอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัย คณะกรรมการที่ดำเนินการสามารถมีความเห็นว่าผิดหรือไม่ผิด จะเป็นวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หากวินัยร้ายแรงสามารถเสนอความเห็นให้มีการลงโทษ จะไล่ออก ปลดออก เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่มีการสอบสวน เรื่องวินัยเป็นกระบวนการที่แยกออกมา และสามารถสรุปความผิดทางวินัยได้โดยไม่ต้องรอผลทางคดีอาญา ซึ่งมีกรอบเวลาในการพิจารณา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน หรือจะมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย คาดว่าขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยจะรวบรัดได้เร็วกว่าในส่วนของคดีอาญา เพราะว่ากระบวนการในการพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ไม่เหมือนคดีอาญาเวลาที่จะกล่าวหา กล่าวโทษใครว่าต้องคดีอาญา ที่มีโทษจำคุกจะต้องดูพยานหลักฐานให้แน่ชัดให้ชัดเจน ถ้ายังไม่ตัดสิน การถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ มีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับ ส่วนทางวินัยการสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนจนฟังว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรงถึงลงโทษให้ไล่ออก ปลดออก แต่คณะกรรมการหรือผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าการกระทำทั้งหมดมีมลทินมัวหมอง หากอยู่ไปก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหาย อาจมีความเห็นให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระบวนการพิจารณาพักราชการ ให้ออกจากราชการ รักษาราชการแทนสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า เป็นอำนาจของรักษาการ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็น ผบ.ตร.อำนาจเป็นของนายกรัฐมนตรี แต่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็น รอง ผบ.ตร. ผู้บังคับบัญชาคือคนที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนี้คือรักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เมื่อถามถึงประเด็นการถูกดำเนินคดีอาญาจะส่งผลต่อการมีชื่อเป็นแคนดิเดต “ผบ.ตร.” คนต่อไปหรือไม่ พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ประเด็นนี้จริงๆ แล้ว ข้อมูลทั้งหลายมีกระบวนการดำเนินการทั้งทางคดีอาญาและทางวินัย คงต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการ หากถามว่าจะเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายเหมือนอย่างที่มีข้อสันนิษฐาน หรือมีคนสงสัยมาตลอดว่าการดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องของการเตะตัดขา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตนขอบอกว่ากระบวนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. เริ่มขึ้นประมาณเดือน ต.ค. 67 ซึ่งส่วนนี้กฎหมายให้อำนาจนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นแคนดิเดต 4 คน รวมถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ด้วย

เมื่อถามว่าขณะนี้ทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อาจถูกตั้งกรรมการและถูกดำเนินคดีอาญาจะเป็นข้อจำกัดสิทธิหรือไม่ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ขอยืนยันว่ายังไม่เป็นข้อจำกัดสิทธิ เพราะนายกรัฐมนตรี สามารถเสนอชื่อของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดไว้ ทั้งอาวุโส ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ในการสืบสวนสอบสวน และเรื่องความประพฤติ ก็จะมีประเด็นที่สังคมมีคำถามว่าต้องหาคดีอาญา หรือโดนตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจะมีความเกี่ยวข้องเป็นข้อพิจารณาได้หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้แล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาและเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้ความเห็นชอบซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ นายกรัฐมนตรี มีสิทธิสามารถเสนอได้ ส่วนข้อจำกัดตามที่กล่าวอ้าง หรือมีประเด็นที่สอบถามกันจะต้องแล้วแต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา