เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระ 2-3 โดยนายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) อภิปราย มาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม โดยขอตัด10เปอร์เซนต์ สาเหตุหลักมาจากงบประมาณของกองทัพเรือ (ทร.) เพราะได้เห็นรายละเอียดของบางเหล่าทัพที่มีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส แต่บางเหล่าทัพกลับกำหนดสาระสำคัญ หมกเม็ดเพราะนึกว่าคนอื่นมองไม่เห็นหรือตามไม่ทัน ดังนั้นตนไม่สามารถปล่อยผ่านได้ และต้องขอตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไปทั้งหมด จนกว่านายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองและเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างงานในประเทศ

นายชัชวาล กล่าวว่า  ตนย้อนกลับไปดูในรายละเอียด พบว่ามีแต่กองทัพอากาศ (ทอ.) ที่ได้จัดทำและแจกจ่าย สมุดปกขาวกองทัพอากาศ ในงานสัมมนา Symposium ของกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 24  ม.ค.63 และล่าสุดเมื่อ วันที่ 29 ก.พ.67 กองทัพอากาศได้เชิญผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มารับฟังคำชี้แจงและตอบข้อซักถามอย่างเปิดเผย แสดงถึงความร่วมมือกับอุตสาหกรรมไทยแบบไร้พรมแดน เพื่อการพึ่งพากันเองในประเทศของคนไทยด้วยกัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีแอบแฝงให้เกิดข้อกังขาเรื่องการทุจริต สุดยอดและโปร่งใสมาก ซึ่งสมุดปกขาวดังกล่าว จัดทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเอกสารสื่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้รับรู้ ตระหนัก และเข้าใจบทบาทหน้าที่ และขีดความสามารถที่กองทัพอากาศต้องการ เพื่อการปฎิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสและเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่คนในชาติ ตลอดจนสนับสนุนนโยบายชดเชยการนำเข้ายุทโธปกรณ์ ให้เกิดการพึ่งพาตัวเองในประเทศเพื่อความมั่นคงปลอดภัยที่ยั่งยืน

นายชัชวาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาก่อนมีสมุดปกขาว กองทัพอากาศก็อาศัยความร่วมมือกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยในการศึกษา พัฒนา และเรียนรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกำลังรบ โดยกองทัพอากาศได้ริเริ่มแนวทางการจัดหาพร้อมการพัฒนา กับโครงการต่างๆของกองทัพอากาศ ซึ่งไม่ได้เป็นการจัดหาโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตและบรรจุเข้าประจำการอย่างเดียว แต่เป็นการจัดหาพร้อมกับการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพอากาศและภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย โดยหลายโครงการเป็นการจ้างงานแก่บริษัทอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งในส่วนออกแบบและผลิตอากาศยานไร้คนขับ งานปรับปรุงเครื่องบินและงานพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการบิน ทำโดยคนไทย ทำโดยบริษัทไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวสำเร็จและส่งมอบงานได้เรียบร้อย รวมถึงโครงการที่กองทัพอากาศยังมีความจำเป็นต้องจ้างบริษัทต่างประเทศ เช่น โครงการปรับปรุงโครงสร้างอากาศยานและระบบเอวิโอนิกส์รวมทั้งระบบอาวุธของเครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข/ค (F-5E/F) เมื่อปี 2557 จากบริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศอิสราเอล

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า ซึ่งทุกโครงการฯที่กล่าวมานั้น กองทัพอากาศ ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ตามที่ระบุในสมุดปกขาวกองทัพอากาศ เช่น การผลิตชิ้นส่วนสายไฟเพื่อติดตั้งบนอากาศยาน  การพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี เพื่อติดตั้งในระบบซอฟต์แวร์ปฏิบัติการบินของเครื่องบิน รวมถึงการประกอบเครื่องบิน ในประเทศไทย เป็นต้น ต่างจากกองทัพเรือ มีโครงการใหญ่ของกองทัพเรือในปีงบประมาณ 2567 นี้ 2 โครงการ คือ 1.โครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือ (ร.ล. ช้าง) วงเงินงบประมาณ 920,000,000 บาท 2.โครงการปรับปรุงขีดความสามารถเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ชุด ร.ล.ปัตตานีวงเงินงบประมาณ 2,829,544,000 บาท

นายชัชวาล กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการนี้เป็นการปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ด้านความพร้อมรบของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันกับโครงการปรับปรุงเครื่องบินของกองทัพอากาศ แต่การกำหนดความต้องการใน TOR เพื่อจัดหาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการของระบบอำนวยการรบ และ ซอฟต์แวร์ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ชุด ร.ล.ปัตตานี ไม่มีการระบุถึงความต้องการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงของกองทัพเรือแต่อย่างใด ไม่มีการระบุถึงนโยบายชดเชย เพื่อให้เกิดการจ้างงาน หรือพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี หรือการผลิตในประเทศไทยแม้แต่น้อย เมื่อเทียบกับการระบุความต้องการที่ชัดเจน โปร่งใส ใน TOR ของโครงการต่างๆของกองทัพอากาศที่ได้กล่าวมาข้างต้น ตนจึงไม่แน่ใจว่า กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงกลาโหมของประเทศเดียวกันหรือไม่ จึงมีนโยบายที่แตกต่างกันเช่นนี้

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ระบบซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติที่สำคัญ เช่น ระบบอำนวยการรบ ระบบควบคุมบังคับบัญชา และ ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี เหล่านี้ เป็นระบบหัวใจหลักของการรบที่จะต้องมีการเชื่อมต่อหรือบูรณาการร่วมกันกับระบบป้องกันภัยอื่นๆโดยเป็นการบูรณาการซอฟต์แวร์ให้ใช้งานร่วมกันได้ หรือหลอมรวมข้อมูลให้ได้ภาพสถานการณ์รบที่รวดเร็วแม่นยำแก่ผู้บัญชาการรบ ต้องเป็นระบบที่กองทัพไทยสามารถควบคุมความลับ ปรับปรุง เพิ่มเติม ขีดความสามารถให้สอดคล้องกับภารกิจได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ต้องเอาความลับของประเทศชาติไปบอกประเทศอื่น และยังเสียเงินงบประมาณของประเทศไปให้กับบริษัทต่างชาติเพื่อให้ได้ระบบที่ไม่สมบูรณ์ ฟังก์ชันการใช้งานไม่ตรงความต้องการของกองทัพเรือ เนื่องจากเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในประเทศอื่น ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเอกสารสำคัญที่ใช้ในการบูรณาการด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ร่วมกับระบบอื่นจะนำเข้าข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ จะติดตั้งระบบอาวุธเพิ่มเติมแต่ละทีก็ต้องกลับไปว่าจ้างบริษัทต่างชาติผู้ผลิตซอฟต์แวร์มาทำให้ทุกครั้งไป ขาดความเป็นอิสระ ขาดความเป็นอธิปไตย ทำลายความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย

นายชัชวาล กล่าวว่า ตนขอตั้งคำถามไปถึง รมว.กลาโหมว่า ทั้ง 2 โครงการของกองทัพเรือนี้จะมีเนื้องานที่ตกไปถึงบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยหรือไม่ เป็นสัดส่วนเท่าไร หรือ จะเป็นการมอบเงินงบประมาณมหาศาลไปให้ต่างประเทศทั้งหมด กองทัพเรือได้คิดถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรให้หมุนเวียนกลับมาสู่เศรษฐกิจไทย หรือนำพาเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศมาสู่อุตสาหกรรมของไทยหรือไม่ ให้คนไทยได้มีรายได้ ให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงของประเทศหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นใน ทีโออาร์ ยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้  ตนอยากมีการ รับปากว่าจะไปกำชับให้กองทัพเรือ ปรับปรุงทีโออาร์ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงและไม่ล็อคให้กับบริษัทต่างชาติอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

“เลิกทีเถอะครับ เลิกล็อคให้กับบริษัทต่างชาติ และหันมาใช้บริการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยได้แล้วครับ แล้วอย่ามาชี้แจงว่าที่ไม่จ้างบริษัทไทยเพราะบริษัทไทยไม่เคยมีผลงานมาก่อน เพราะกองทัพอากาศเขาให้บริษัทคนไทยทำเองทั้งหมดทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ ก็สำเร็จมาแล้วทุกโครงการ ซึ่งผมจะจะติดตามเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด แต่ผมเชื่อมั่นว่า รมว.กลาโหม ที่เป็นพลเรือน และเป็นคนอีสานเหมือนผม จะสั่งการให้กองทัพเรือ ทำทีโออาร์ ให้ชัดเจน โปร่งใส และต้องเป็นไปตามนโยบายที่ทางกระทรวงมอบให้กับเหล่าทัพอย่างแน่นอน” นายชัชวาล กล่าว.