ปัญหาภาพส่วนตัวในลักษณะ “โป๊เปลือย” ถูกปล่อยหรือเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยไม่เต็มใจ เพราะถูกแบล็กเมล์ และถูกขู่กรรโชกทางเพศ (Sextortion) ยังมีให้เห็นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ตกเป็นเหยื่อ ถูกขู่แชร์ภาพโป๊เปลือย ด้วยเพราะถูกหลอก หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การกระทำเหล่านี้ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนนำไปเผยแพร่หรือหาผลประโยชน์ ถือว่ามีความผิด!!

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ต้องเสมือน “ตกนรกทั้งเเป็น” ผู้ที่ถูกกระทำบางรายถึงขั้นคิดสั้น ถือเป็นวิกฤติของชีวิต ส่งผลให้ไม่กล้าเข้าสังคม ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร

ปัญหา “รูปหลุด คลิปหลุด” จากนี้ จะมีวีธีลบออกจากโลกออนไลน์ได้ วันนี้ “คอลัมน์ชีวิตติด” มีช่องทางและวีธีมาบอกกัน เมื่อทาง Meta ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Facebook  และ Instagram ได้ขยายโครงการ ‘Take It Down’ ด้วยการเพิ่มบริการภาษาไทย

สำหรับ โครงการ ‘Take It Down’ เป็นความร่วมมือกับศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCMEC) และพันธมิตรในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) และโครงการฮัก ประเทศไทย

โครงการดังกล่าว ซึ่งเริ่มให้บริการเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนในปีที่ผ่านมา นับเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมที่มีโครงการความร่วมมือให้บริการลบรูปภาพส่วนตัวของผู้ที่มีอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่า บนโลกออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพเปลือย ภาพเปลือยบางส่วน หรือภาพอนาจาร ผ่านแพลตฟอร์ม https://takeitdown.ncmec.org/th ปัจจุบัน โครงการได้พัฒนาให้ครอบคลุมกว่า 25 ภาษาทั่วโลก และขยายการดำเนินงานในหลายประเทศ ทำให้สามารถเข้าถึงวัยรุ่นจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก

“มาลีนา เอนลุนด์” ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Meta บอกว่า อาชญากรรมในรูปแบบการขู่กรรโชกทางเพศ (Sextortion) โดยถูกนำภาพส่วนตัวไปเผยแพร่เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม หากเหยื่อปฏิเสธ ก็จะถูกแชร์รูปภาพโป๊เปลือยเพิ่ม หรือมีกิจกรรมทางเพศด้วย หรือแม้แต่การส่งเงินให้

“Meta ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหลากหลายองค์กรและครีเอเตอร์ทั่วโลก เพื่อช่วยให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึง การควบคุมรูปภาพส่วนตัวของตนเอง และยับยั้งไม่ให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพที่เป็นอดีตคนรัก หรือใครก็ตาม ในการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวดังกล่าวบนโลกออนไลน์ การขยายบริการ Take It Down ในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเยาวชนทั่วโลก”

สำหรับวิธีการใช้งานบริการ Take It Down นั้น สามารถใช้บริการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการค้นหา และลบรูปภาพส่วนตัวออกจากอินเทอร์เน็ตหรือการช่วยยับยั้งการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวเหล่านั้นบนโลกออนไลน์ตั้งแต่แรก

บริการนี้เปิดให้บริการใช้งานฟรีสำหรับ เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีความกังวลว่ารูปภาพส่วนตัวของพวกเขาถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ หรือผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับความไว้วางใจ จากเด็กและเยาวชนในการจัดการกับรูปภาพส่วนตัวในนามของเด็ก รวมถึง ผู้ใหญ่ที่กังวลว่ารูปภาพส่วนตัวของตนเอง ที่ถูกถ่ายไว้ก่อนอายุ 18 ปีถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การใช้งานให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุเพื่อกำหนดลายนิ้วมือดิจิทัลที่เป็นตัวเลขไม่ซ้ำกัน ซึ่งเรียกว่า ‘ค่าแฮช’ ให้กับรูปภาพหรือวิดีโอภาพเปลือย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถทำได้อย่างเป็นส่วนตัว และปลอดภัยจากอุปกรณ์ของตนเอง โดยที่ข้อมูลรูปภาพ และข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกดึงออกไปด้วย และไม่ต้องส่งภาพหรือวิดีโอส่วนตัว

เมื่อค่าแฮชได้ถูกแชร์ให้กับ NCMEC แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าร่วมต่างๆ รวมถึง Meta ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีรูปหรือวิดีโอเหล่านั้นอยู่บนแพลตฟอร์มหรือไม่ และจัดการลบเนื้อหาดังกล่าวออก พร้อมยับยั้งไม่ให้ใครก็ตาม สามารถข่มขู่ผู้อื่นว่าจะนำเนื้อหาดังกล่าวกลับมาโพสต์บนแพลตฟอร์มได้อีก

สำหรับในด้านการทำงานเพื่อติดตามผู้กระทำผิดนั้น ทาง “พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์” ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ ไทแคค (TICAC) บก.ตอท.บช.สอท. บอกว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องสื่อที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญและจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด โดยในปี 66 ที่ผ่านมา มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วกว่า 549 คดี

“ด้วยสภาพสังคมและการสื่อสารในปัจจุบันบนโลกออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายและภาคเอกชนและแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Meta เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในเชิงบูรณาการให้มีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมืออย่าง Take It Down การตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจ และทำให้คนที่ประสบปัญหาต้องรู้สึกเหมือนกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวอย่างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจรู้สึกกลัวและอับอายจนไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

ทาง Meta จึงได้ร่วมมือกับ Thorn องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีภารกิจในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยคุกคามทางเพศ รวมถึงพัฒนาแนวทางล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการกับเหตุการณ์ ขู่กรรโชกทางเพศสำหรับเยาวชน ซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำในการให้ความช่วยเหลือบุตรหลาน หรือนักเรียน หากประสบกับปัญหาเหล่านี้

โดยแหล่งข้อมูลใหม่ดังกล่าว ได้ให้บริการอยู่ในแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการขู่กรรโชกทางเพศ ภายในศูนย์การรักษาความปลอดภัยของ Meta ซึ่งให้บริการในมากกว่า 50 ภาษา รวมถึงภาษาไทย

อย่างไรก็ตามโครงการ ‘Take It Down’ เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี หากผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี และตกเป็นเหยื่อ การขู่กรรโชกทางเพศ ถูกนำภาพส่วนตัวไปเผยแพร่ ก็สามารถใช้เว็บไซต์ https://stopncii.org/ ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร และทาง Meta ก็ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อเป็นช่องทางในการจัดการรูปภาพได้เช่นกัน

สุดท้ายแล้ว การป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด คือการไม่ถ่ายภาพส่วนตัวในลักษณะโป๊เปลือย ให้ถือคติที่ว่า “ไม่ถ่าย ก็ไม่หลุด” จะเป็นแนวทางที่ป้องกันได้ดีที่สุด!?!

Cyber Daily