เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการร้องเรียนถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือเรียน ประจำปี 2567 ขององค์การค้าฯ ไม่มีความโปร่งใสและมีการล็อกสเปกนั้น ขณะนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งผลสรุปพบว่า กระบวนการจัดซื้อจ้างขององค์การค้าฯ ที่มีการจัดพิมพ์แบบเรียนมีความโปร่งใสทุกขั้นตอน โดยที่ผ่านมา เราได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้มาตลอด และผู้ร้องเรียนได้มีการร้องเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบันด้วยการให้ยกเลิกทีโออาร์ทั้ง 17 บริษัททั้งหมดเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และการต้องยกเลิกทีโออาร์ อาจทำให้องค์การค้าฯ ไม่สามารถจัดพิมพ์แบบเรียนได้ทัน จนทำให้มีผู้อื่นได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งตนไม่สามารถตอบได้

รอง ผอ.องค์การค้าฯ กล่าวต่อไปว่า การจัดพิมพ์แบบเรียนในปีนี้ มีเวลาจำกัดในการดำเนินการ เนื่องจาก สพฐ. มีการปรับปรุงต้นฉบับเปลี่ยนแปลงหนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 ทำให้องค์การค้าฯ มีเหตุจำเป็นจะต้องดำเนินการโดยวิธีคัดเลือก คาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 78 วัน แต่หากใช้วิธี e-bidding จะทำให้ผลิตไม่ทันเวลาการเปิดภาคเรียน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับนักเรียน ครู โรงเรียน สถานศึกษาและระบบบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น องค์การค้าฯ ดำเนินการโดยวิธีคัดเลือก และได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งในการใช้วิธีนี้จะทำให้เกิดการกระจายไปให้โรงพิมพ์ได้มากที่สุด และเกิดความโปร่งใสอย่างแน่นอน อีกทั้งเกณฑ์การเลือกโรงพิมพ์จะต้องเป็นโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพ ขึ้นทะเบียนผู้ค้ากับกรมบัญชีกลางและรับงานพิมพ์องค์การค้าฯ หรือเป็นโรงพิมพ์ของรัฐที่คาดว่าจะสามารถพิมพ์งานนี้ได้ และสามารถผลิตหนังสือเรียนได้ทันเปิดภาคการศึกษา 2567 ซึ่งองค์การค้าฯ ได้เชิญสำนักพิมพ์จำนวนถึง 19 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชนและกระจายความเสี่ยงในการผลิตเป็น 30 กลุ่ม ทั้งนี้ การแบ่งกลุ่มไม่ใช่การกีดกันแต่อย่างใด ผู้ว่าจ้างสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

“โรงพิมพ์ที่ร้องเรียนว่าการผลิตหนังสือเรียนระยะเวลาการผลิต 55 วันนั้น หากโรงพิมพ์ใดโรงพิมพ์หนึ่งต้องผลิตจำนวน 5.4 ล้านเล่มจะเป็นการเกินกำลังการผลิตของทุกโรงพิมพ์นั้น เรื่องนี้ โรงพิมพ์ สามารถเลือกประมูลงานได้ตามศักยภาพของแต่ละโรงพิมพ์ องค์การค้าฯ ไม่ได้บังคับให้ผลิตหนังสือเกินกำลังการผลิตของแต่ละโรงพิมพ์ และโรงพิมพ์ดังกล่าว ได้ยื่นประกวดราคาในราคาที่ต่ำเพื่อต้องการให้ได้งานมากที่สุดและก็ได้งานไปถึง 5.3 ล้านเล่ม ในขณะที่โรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกอื่นๆ ได้รับการคัดเลือกให้จัดพิมพ์โดยประมาณ 2-3 ล้านเล่ม ตามศักยภาพของโรงพิมพ์แต่ละแห่ง องค์การค้าฯ จึงไม่เข้าใจว่า โรงพิมพ์ที่ร้องเรียนดังกล่าว และได้งานไปกว่า 5 ล้านเล่มนั้น นำประเด็นนี้มาโจมตีด้วยเหตุผลใด แม้กระทั่งในวันที่ทำสัญญา 20 มี.ค. 2567 โรงพิมพ์แห่งนี้ ก็เข้ามาทำสัญญา และยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดเช่นเดียวกับโรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกอื่นๆ” นายภกร กล่าว

สำหรับข้อกล่าวหากรณีการล็อกสเปกกระดาษที่นั้น องค์การค้าฯ ไม่ได้กำหนดสเปกเอง แต่การเลือกใช้กระดาษของหนังสือเรียนองค์การค้าฯ ได้รับการอนุมัติจาก สสวท. ซึ่งเป็นเจ้าของต้นฉบับ และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสังกัด สพฐ. ได้อนุมัติให้ใช้และกำหนดราคาจำหน่ายหนังสือเรียนมาให้ องค์การค้าฯ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดสเปกของกระดาษโดยพลการ ยิ่งไปกว่านั้น กระดาษดังกล่าวไม่ได้ใช้เป็นปีแรก และก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องซื้อจากแหล่งใด ทุกโรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถซื้อกระดาษจากแหล่งใดก็ได้ เพียงแต่ต้องใช้ตรงตามสเปกที่กำหนดตามทีโออาร์ ซึ่งการสั่งกระดาษเข้ามารองรับงานพิมพ์ บริษัทกระดาษทุกๆ บริษัททราบอยู่แล้วว่าในแต่ละปี องค์การค้าฯ จะมีปริมาณการผลิตหนังสือเรียนเท่าไหร่ ดังนั้นบริษัทที่ประสงค์จะขายกระดาษให้กับโรงพิมพ์เพื่อจัดพิมพ์หนังสือขององค์การค้าฯ สามารถวางแผนสต๊อกกระดาษเพื่อใช้ในการผลิตหนังสือเรียนได้ ส่วนประเด็นที่มี 4 บริษัทที่เคยมีปัญหาพิมพ์ปกแบบเรียนไม่ตรงสเปก แต่ทำไมถึงเสนอราคาไม่ชนกันเลย ในแต่ละรายการนั้น เท่าที่ทราบสเปกปกแบบเรียนตรงกันหมดและไม่มีราคาชนกัน