เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษา (EDPC) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)  ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส  ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้มุ่งเน้นการสร้างแนวทางการศึกษาที่ยั่งยืน  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงอิทธิพลต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอิทธิพลและความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยผลการสำรวจพบว่าการลงทุนแบบ Generative AI เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดหลักสูตร AI มีเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันการศึกษาเล็งเห็นประโยชน์มหาศาลของ AI ที่สามารถใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของครู ช่วยครูในการวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน จัดทำรายงานและแผนการเรียนรู้ และสร้างเนื้อหาการสอนที่ปรับให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ AI ยังสามารถใช้เพื่อพัฒนาวิธีการสอนใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย แต่ก็ยังมีข้อกังวลเชิงปฏิบัติที่เกิดขึ้นทันที เช่น การต่อสู้กับความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไปจนถึงคำถามที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับประเภทของทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องพัฒนาสำหรับโลกแห่งการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง และวิธีสนับสนุนผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาที่ดีที่สุด โดยคณะวิจัยได้มีการลงพื้นที่สอบถามการใช้งาน AI จากครูและนักเรียน ซึ่งปัจจุบันยังพบปัญหาการใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำคำแนะนำให้ครอบคลุม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ส่งกระทบต่อพัฒนาการของผู้เรียน ในด้านความปลอดภัย

“อีกประเด็นที่น่าจับตาคือการเปลี่ยนแปลงสังคมสีเขียว (Green Transition) ที่จะต้องส่งผลต่องานและทักษะที่จำเป็นในอนาคต การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะต่อสุขภาพงาน และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียวที่ส่งผลเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยการช่วยให้คนงานที่ถูกแทนที่เปลี่ยนไปสู่งานและภาคส่วนใหม่ๆ และเพิ่มผลผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรม สำหรับการประเมินโครงการนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ  พิซา นั้นขณะนี้ OECD ได้เผยแพร่รายงานพิซา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีความคิดสร้างสรรค์  ความรู้ทางการเงิน และความพร้อมของผู้เรียนสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งประเทศไทยจะต้องเร่งเตรียมความพร้อมการสอบของเด็กในเรื่องเหล่านี้  อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวทำให้เราได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำและพัฒนานโยบายการศึกษาของประเทศในระดับต่าง ๆ ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและแข่งขันได้กับนานาชาติ รวมถึงกำหนดทิศทางตามแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาในอนาคตด้วย” เลขาธิการสกศ.กล่าว