เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศ กกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ตั้งใจว่าจะส่งไปในวันที่ 23 เม.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กกต. ได้มีการจัดอบรมชี้แจงให้ตัวแทน กกต. ประจำจังหวัด หรือรอง ผอ.กกต.จังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานจัดการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วม และพนักงานการเลือกตั้งในการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือก สว. ให้เป็นมาตรฐานเดียว
ส่วนมาตรการป้องกันการฮั้วนั้น ก็ขอเตือนว่า อย่าทำอะไรที่ฝ่ฝืนกฎหมายเลย ทั้งนี้ การเลือกไขว้จะป้องกันการฮั้วได้ ฮั้วกันยาก อีกทั้ง กกต. ยังมีผู้ตรวจการเลือกตั้งและชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งเป็นตำรวจที่คุ้นเคยพื้นที่ดีจะเป็นการช่วยสอดส่องการฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมาสมัครเป็นผู้แทนประชาชนในจิตสำนึกก็พยายามอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ให้เริ่มต้นจากการเป็นผู้สมัครที่ดีต้องไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ยืนยันว่า กกต.จะจะทำทุกทางเพื่อป้องกัน สำหรับกรณีการรับจ้างสมัครเข้าไปเลือกผู้สมัครสว.คนอื่น ทางกกต.มีการหารือและมีการตรวจสอบ ถ้าทำจริงก็ถือว่ามีความผิด ทั้งจำ ทั้งปรับและตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ย้ำว่า การไม่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งกฎหมายออกแบบให้ป้องกันเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง กกต. ก็มีกลไกระดับหนึ่ง ถ้าตั้งใจจะฮั้วอย่ามั่นใจว่าจะรอด ไม่มีใครจับได้ เพราะสมัยนี้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์เยอะ ช่องทางการตรวจสอบก็เยอะ ดังนั้นอย่าเสี่ยง
เมื่อถามถึงกรณีคณะก้าวหน้า รณรงค์ให้ประชาชนลงสมัครเลือก สว. เข้าข่าย จำเป็นต้องตักเตือนหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เท่าที่ทราบข่าว ไม่คิดว่าถึงขั้นสุ่มเสี่ยงในขณะนี้ เพราะการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่ตนก็ได้รณรงค์มาตลอด ซึ่งหากมีการสมัครเยอะ การแข่งขันก็จะยิ่งเยอะ และทำให้การแข่งขันมีคุณค่า ซึ่งตนเห็นว่า การเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสิ่งที่น่าจะสนับสนุนด้วยซ้ำไป แต่เตือนว่า ทำอะไรก็อย่าไปฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าสงสัยอะไรแนะนำให้มาคุยกับ กกต. ก่อนในทุกๆ เรื่อง ซึ่งคำตอบของเรา อาจจะทำให้การกระทำที่สุ่มเสี่ยงไม่เกิดขึ้น
เมื่อถามต่อว่า คณะก้าวหน้าที่มีการชูนโยบาย “1 ครอบครัว 1 สว.” จะทำให้ผิดเจตนารมณ์ของการเลือก สว. หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เบื้องต้น 1 ครอบครัว 1 สว. เป็นการรณรงค์ให้มีการสมัคร อาจจะเป็นคอนเซปต์ที่ฟังง่าย ให้คนฉุกคิดว่า เราในฐานะที่เป็นคนไทย เรามีคุณสมบัติ และมีความประสงค์ที่จะสมัครหรือไม่ และทำงานเพื่อประเทศ เรื่องนี้ไม่ถึงขั้นมีความสุ่มเสี่ยง ซึ่งถ้าสุ่มเสี่ยงก็ต้องรับฟังกรอบความเห็นของสำนักงาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ข้อเท็จจริงยังไม่ชัด อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ตอบรับแคมเปญแล้ว มีผู้สมัครหลักแสนคนนั้น ทาง กกต. ต้องสามารถรับมือได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่แรก ว่าจะมีผู้สมัครหลักแสนคน และ กกต. ก็มีแผน 1 แผน 2 ตอนนี้ บัตรเลือกตั้งมีการกำหนดรูปแบบก็กำหนดไว้ในท้ายระเบียบ ส่วนสีบัตรการเลือกในแต่ละระดับนั้น ให้เลขาฯ กกต. เป็นผู้พิจารณาเลือกสี ทั้งนี้บัตรเลือก สว. จะพิมพ์ 2 รอบ รอบแรก พิมพ์ตามจำนวนที่เราคาดการณ์ไว้ และอีกรอบ จะจัดพิมพ์เมื่อเห็นตัวเลขผู้สมัครแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีมีผู้ฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการสมัคร สว. จะเป็นการยื้อเวลาการทำหน้าที่ของ สว. ชุดปัจจุบันหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ตนไม่คิดว่า จะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เมื่อเราจัดการเลือกระดับประเทศเสร็จแล้ว กฎหมายก็ให้รอ 5 วัน เผื่อจะมีการยื่นร้องเรียน และถ้ามีการร้องเรียนก็ต้องร้องภายใน 3 วัน หลังจากวันที่เลือก ซึ่ง กกต. ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 วัน ส่วน กกต. จะมีการสั่งให้เลือกในวันไหนนั้น กรณีที่มีการเลือกซ่อม โดยหลักก็ต้องทำให้เร็ว เพราะฉะนั้นจะไม่ทำอะไรที่เป็นการขวาง
“ณ เวลานี้ผมไม่คิดว่าจะมีการทำให้เลื่อน การเลื่อนต้องมีเหตุตามกฎหมาย และชัดเจน ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่อยากจะสันนิษฐานว่าเลื่อนออกไปเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ หากมีพระราชกฤษฎีกา เราก็ต้องทำตามตารางของเรา เราไม่ได้คิดเป็นอื่น” นายอิทธิพร กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการยื่นต่อศาล และศาลมีคำสั่งให้ชะลอไปก่อน นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นกระบวนการศาล ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า จะเป็นอย่างไร เพราะศาลมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาล และหากมีการส่งเรื่องไปศาล ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทบต่อไทม์ไลน์ ส่วนกรณีนายธีระยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ทางผู้ตรวจฯ ก็จะมีกระบวนการการพิจารณาอยู่ว่า ควรส่งหรือไม่ควรส่งเรื่อง
เมื่อถามว่าแม้เงื่อนไขจะระบุว่าผู้สมัครไม่ให้ลงสมัครในนามพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรค แต่ในทางปฏิบัติพรรคอาจจะลงคนมาสมัคร นายอิทธิพร กล่าวว่า อย่างที่บอกกฎหมายไม่ให้ทำเช่นนั้น และถ้าทำแล้วเรามีหลักฐานก็ต้องรับผิด เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โทษของการฝ่าฝืนกฎหมายมีทั้งจำทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ฉะนั้นอย่าเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลย และถ้าไม่แน่ใจก็สอบถามได้ เมื่อถามย้ำว่า ความผิดถ้าทำจะผิดเฉพาะคนสมัครหรือพรรคการเมืองด้วย นายอิทธิพร กล่าวว่า ผู้สมัคร และมีคำว่าผู้ใดระบุไว้ด้วย คือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง กรรมการบริหารพรรค ผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง สส. สมาชิกท้องถิ่น