เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 22 เม.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการแก้ไขปัญหาแท็กซี่ โดยมีคณะกรรมการบริหารร่วม 3 ภาคีเครือข่ายสมาคม ประกอบด้วย สมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย และ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมประชุมว่า ได้รับทราบปัญหาของแท็กซี่ และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ได้รับทุกเรื่องร้องเรียน ข้อเรียกร้องไหนที่เกี่ยวกับขั้นตอนกฎหมายจะมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ และข้อเรียกร้องไหนสามารถดำเนินการได้จะแก้ปัญหาทันที โดยภายใน 2 เดือนจะมีคำตอบในการแก้ไขปัญหาชัดเจน

ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าจะเชิญ บริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย (จำกัด) ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเข้ามาหารือเกี่ยวกับปัญหาแท็กซี่ที่มีอยู่ในระบบในปัจจุบันราว 78,000 คัน ได้รับความเดือดร้อนจากการที่แกร็บไม่นำรถที่ให้บริการผ่านแอป ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด ซึ่งเมื่อได้หารือแกร็บแล้วจะสรุป วิเคราะห์ เพื่อหาทางออกกำหนดมาตรการให้ชัดเจน จากนั้นจะเรียกแท็กซี่เข้ามาหารือกันอีกครั้ง เพื่อแจ้งความคืบหน้าและหามาตรการที่ดำเนินการอยู่ร่วมกันได้ทั้งแท็กซี่และแกร็บ เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป

ด้าน นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กลุ่มแท็กซี่เรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้ออกประกาศกรอบระยะทางที่ใช้มิเตอร์ หลังจากระยะทาง 60 กิโลเมตร (กม.) ให้เป็นไปตามที่ตกลงราคากัน (เหมาจ่าย) ซึ่งจะพิจารณาทั้งผู้ใช้บริการและแท็กซี่ โดยกรอบระยะทางให้เหมาะสมต่อไป 2.การจดทะเบียนรถแท็กซี่วีไอพี  โดยเงื่อนไขของ ขบ. กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการได้ต้องเป็นกลุ่มนิติบุคคล หรือ สหกรณ์แท็กซี่ แต่ทำไมกลุ่มสมาคมฯ ไม่สามารถนำแท็กซี่มาจดทะเบียนเป็นแท็กซี่วีไอพีได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ ขบ. ไปพิจารณา

3.ขอให้ดำเนินการกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการนำรถมาให้บริการผ่านแอป ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ต้องเป็นไปตามเงื่อนที่ ทสภ. กำหนด เพราะเกรงเรื่องความปลอดภัย และเกิดความเหลื่อมล้ำให้บริการ ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการ และ 4.อัตราค่าบริการแกร็บที่มีการลดราคา หรือตัดราคาแท็กซี่ ซึ่งจะตรวจสอบและแก้ปัญหาต่อไป

ส่วน นายพัลลภ ฉายินธุ นายกสมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ตามที่ ทอท. เปิดให้บริการรถรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Grab Application) ของ แกร็บ ประเทศไทย ที่ ทสภ. เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันพบว่า แกร็บ แอบนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามเงื่อนไข ขบ. กำหนดมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารอยู่จำนวนมาก และ แกร็บไม่ทำตามเงื่อนไขสัญญาของ ทสภ. ซึ่งเป็นการบริการที่ไม่จริงใจ ทั้งนี้ในสัญญาที่แกร็บทำกับ ทสภ. ไว้ว่า หากแกร็บนำรถที่ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขมาให้บริการหรือมีการกระทำผิดไม่ทำตามสัญญาจะปรับครั้งละ 5,000 บาท ซึ่งตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-ปัจจุบัน แกร็บกระทำผิดมากกว่า 1,000 เที่ยว คิดเป็นเงินค่าปรับ 5,000,000 บาท แล้วอยากถามว่า ทสภ. ได้ดำเนินการปรับเงินแกร็บในส่วนนี้หรือยัง และถ้าแกร็บยังกระทำผิดเงื่อนไขอยู่ ขอให้หยุดบริการไปก่อนจนกว่าจะแก้ไขเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม แท็กซี่ไม่ปิดกั้นที่แกร็บจะนำรถที่ให้บริการผ่านแอป เพราะเป็นทางเลือกให้กับผู้โดยสาร แต่อยากให้คำนึงถึงการบริการมากกว่าการเน้นหารายได้ เพื่อจะเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และหากกระทรวงคมนาคมยังไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะดำเนินการเคลื่อนไหวต่อไป

นายพัลลภ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ขอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง ที่เข้าไปให้บริการผู้โดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ซึ่งปัจจุบันแท็กซี่ต้องจ่ายให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งคือต้นทุนค่าใช้จ่ายแท็กซี่ และขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาการจัดเก็บค่าบริการจากผู้โดยสารที่ใช้บริการหมอชิต 2 ในกรณีที่มีสัมภาระจำนวนมาก โดยสัมภาระชิ้นที่ 1-2 อาจจะไม่ต้องเก็บ และอาจจะเก็บสัมภาระชิ้นที่ 3 โดยราคาที่จัดเก็บอาจจะกระเป๋าใบละ 20 บาท หรือแล้วแต่ตามที่กระทรวงพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งถ้าผู้โดยสารไม่มีสัมภาระก็ไม่ต้องเก็บ ทั้งนี้เพื่อแท็กซี่จะได้มีรายได้และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินรถต่อไป

ขณะที่ นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อน 2 ประเด็น  คือ 1.กรอบระยะทางที่ใช้มิเตอร์ หลังจากระยะทาง 60 กม. ให้เป็นไปตามที่ตกลงราคากัน (เหมาจ่าย) โดยเมื่อปี 62 เคยเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาเรื่องนี้ เพราะกรอบระยะทางไม่สะท้อนต้นทุนการเดินรถจริง เช่น ผู้โดยสารต้องการนั่งจากกรุงเทพฯ ไป จ.นครปฐม ระยะทาง 105 กม. ค่าโดยสารราว 700-800 บาท ส่วนเที่ยวขากลับต้องตีรถเที่ยวเปล่ากลับ เพราะไม่มีผู้โดยสาร ซึ่งไม่คุ้มทุน ดังนั้น หลังจาก 60 กม. จึงขอให้เป็นไปตามราคาที่ตกลง เพราะเป็นความพึงพอใจผู้โดยสารกับแท็กซี่ และ 2.การจดทะเบียนแท็กซี่วีไอพี สมาคมฯ ตั้งข้อสังเกตว่า นิติบุคคลหรือสหกรณ์สามารถจดทะเบียนเป็นแท็กซี่วีไอพีได้ แต่ทำไมสมาคมฯ ไม่สามารถนำแท็กซี่มาจดทะเบียนเป็นแท็กซี่วีไอพีได้ ทั้งที่สมาคมฯ มีงบดุลเหมือนกัน จึงต้องการให้กระทรวงแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้แท็กซี่มีรายได้เพิ่มขึ้น