จากกรณีเมื่อวันที่ 22 เม.ย. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และกองทัพธรรม ยื่นหนังสือให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบกระบวนการช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ได้รับการส่งตัวไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ที่ รพ.ตำรวจ นานกว่า 180 วัน กระทั่งได้รับการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. กรมราชทัณฑ์ โดยส่วนประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงประเด็นดังกล่าว ใจความว่า กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม กฎ ระเบียบ และภายใต้กฎหมาย ซึ่งสามารถชี้แจงได้ตามประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1.ประเด็นการส่งนายทักษิณไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ ไม่ได้ป่วยหนักจริง เพราะจากการแสวงหาข้อเท็จจริง พบว่าเป็นการส่งเพื่อป้องกันความเสี่ยง ในประเด็นนี้ การส่งตัวออกไปรับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ ขอเรียนว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 22 ส.ค. 66 เจ้าหน้าที่พยาบาลเวรเรือนจำ ได้ตรวจติดตามอาการนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังที่จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง 608 (สูงอายุและมีโรคประจำตัว) และพบว่า มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ พยาบาลเวรเรือนจำ ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของผู้ป่วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ (สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคหัวใจ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไป รพ.ตำรวจ ที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที และได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อเวลาประมาณ 23.59 น.

กรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า ประเด็นที่ 2 การส่งตัวไป รพ.ตำรวจ ผิดกฎกระทรวงในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 เพราะตามกฎกระทรวง ต้องผ่านการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลภายในเรือนจำเสียก่อน แต่จากรายงานไม่ได้ผ่าน ขอเรียนว่า เมื่อรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการรับตัวเสร็จเรียบร้อย และได้จัดให้อยู่ในสถานพยาบาล แดน 7 เพื่อสังเกตอาการ เนื่องจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่านายทักษิณมีอายุ 74 ปี จึงถือว่าเป็นผู้งสูงอายุและมีโรคประจำตัว โดยมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคหัวใจ ต่อมาในเวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่พยาบาล ได้ตรวจติดตามอาการแล้วพบว่ามีอาการตามที่กล่าวแล้วในประเด็นแรก จึงได้นำตัวส่งออกรักษาตามความเห็นของแพทย์

กรมราชทัณฑ์ ระบุต่อว่า ประเด็นที่ 3 ไม่มีการตัดผมนักโทษตามระเบียบ แม้จะอ้างว่านักโทษยังอยู่ รพ.ตำรวจ และต้องรอให้ รพ.ตำรวจ ส่งตัวกลับมาที่เรือนจำ ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะนักโทษที่ไป รพ. ยังถือว่าเป็นผู้ถูกคุมขัง สำหรับเรื่องการตัดผมผู้ต้องขัง ขอเรียนว่า กรมราชทัณฑ์ ได้มีระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขังผู้ พ.ศ. 2565 โดยเรือนจำจะจัดให้ผู้ต้องขังเข้าใหม่ ได้รับการตัดผมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 7 วัน กรณีนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเรือนจำได้รับตัวและกักโรคตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์แล้ว ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 23.59 น. ของวันที่ 22 ส.ค. 66 ได้ส่งออกไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ ตามความเห็นของแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการรักษาของแพทย์ เมื่อพ้นการรักษาแล้วเรือนจำก็จะได้ดำเนินการตามระเบียบต่อไป

กรมราชทัณฑ์ เผยอีกว่า ประเด็นที่ 4 การจัดให้อยู่ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องพิเศษ อยู่ต่อเนื่อง 180 วัน ผิดกฎกระทรวงที่กำหนด ไม่มีเหตุผลที่อ้างเรื่องความปลอดภัย เพราะถ้ามีปัญหานี้ ตามกฎกระทรวง ต้องส่งกลับมารักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ หรืออ้างเตียงสามัญและ ICU เต็ม ก็ฟังไม่ขึ้น สำหรับห้องพักรักษาตัวของผู้ป่วย โรงพยาบาลที่ทำการรักษาจะเป็นผู้กำหนดว่าจะให้ผู้ป่วยพักรักษาที่ห้องใด ตึกใด เพื่อการรักษาทางการแพทย์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร รพ.ตำรวจ ได้กำหนดห้องสำหรับการพักรักษา ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 กล่าวคือ สถานพยาบาลที่ทำการรักษาจัดให้ และเป็นไปตามแผนการรักษาของแพทย์

กรมราชทัณฑ์ เผยด้วยว่า ประเด็นที่ 5 การให้พักโทษกรณีพิเศษ ก็ให้คะแนนต่ำกว่าความเป็นจริง ที่สำคัญการมีคะแนนต่ำกว่า 11 คะแนน นักโทษต้องมีสภาพย่ำแย่ เพื่อไปใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว สภาพการช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องต่อเนื่องระยะยาว จึงได้รับสิทธิพักโทษกรณีพิเศษ ไม่ใช่ดูแข็งแรงแบบที่เห็น โดยการพักการลงโทษ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดฯ พ.ศ. 2562 และประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดประโยชน์ที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับ โดยกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าคุณสมบัติที่ได้รับประโยชน์จากการพักการลงโทษ กรณีอายุ 70 ปี ขึ้นไป และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย (โดยผลการประเมินตามแบบประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ระยะยาวในชุมชน กรมอนามัยคะแนนไม่เกิน 11 คะแนน) ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นไปตามแบบเกณฑ์การประเมิน โดยผู้ทำการประเมินได้ดำเนินการประเมินตามสภาพข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็นในช่วงระยะเวลาขณะนั้น.