สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการที่สภาสามัญและสภาขุนนางของสหราชอาณาจักร เห็นชอบ “กฎหมายรวันดา” ที่จะเป็นการผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมาย ให้ไปอยู่ที่รวันดา แลกกับการที่รัฐบาลรวันดาได้รับเงินช่วยเหลือ “เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง” และ “เป็นแบบอย่างเลวร้ายให้แก่ประชาคมโลก”


ทั้งนี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์เรียกร้องรัฐบาลสหราชอาณาจักรของนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก “ทบทวน” การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และเสนอให้ “แก้ไขปัญหาให้ถูกจุดกว่านี้” นั่นคือ การกำหนดมาตรการที่จริงจัง และสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อยับยั้งการหลั่งไหลเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของผู้อพยพ โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือที่สร้างสรรค์กับนานาชาติ


อนึ่ง กฎหมายรวันดาเป็นแผนการที่ถกเถียงกัน ระหว่างหลายฝ่ายในสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่ซูแน็กเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อปี 2565 โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรมีแผนส่งผู้อพยพผิดกฎหมายราว 52,000 คน ไปยังรวันดา ที่อยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งรวันดาจะได้รับเงินสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 370 ล้านปอนด์ (ราว 16,993.42 ล้านบาท) จากสหราชอาณาจักร ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวมีแนวโน้มเผชิญกับการคัดค้านผ่านกระบวนการศาล ที่หลายฝ่ายเตรียมร้องเรียนแล้ว.

เครดิตภาพ : AFP