สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ว่า ลมนอกชายฝั่ง เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานสีเขียวสำคัญ ที่ยุโรปหวังพึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า และบรรลุเป้าหมายการผลิตคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593

ปัจจุบัน ทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งของเดนมาร์ก ผลิตไฟฟ้าได้ 2.7 กิกะวัตต์ และจะผลิตเพิ่มได้อีก 1 กิกะวัตต์ ในปี 2570 ซึ่งการประมูลครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ 6 แห่ง ในน่านน้ำ 4 เขตของประเทศ ได้แก่ นอร์ทซี 1, คัตเทกัต, ครีเกอร์ส แฟลก 2 และเฮสเซโล

“พวกเรารู้สึกยินดีที่ในขณะนี้ เราสามารถจัดการประมูลทุ่งกันหันลมขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมาในเดนมาร์ก และนี่เป็นการลงทุนมหาศาล ในการเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” นายคริสตอฟเฟอร์ บอตต์ซอว์ หัวหน้าของดีอีเอ กล่าวในแถลงการณ์

อนึ่ง การลงทุนในพลังงานลมนอกชายฝั่งของยุโรป ลดลงอย่างมากเมื่อปี 2565 เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน, อัตราดอกเบี้ยสูง และราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ก่อนการฟื้นตัวในปี 2566

ด้านสมาคมการค้า “วินด์ยุโรป” ระบุเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ยุโรปมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.2 กิกะวัตต์ ในปีที่แล้ว ภายหลังการอนุมัติโครงการใหม่มูลค่า 30,000 ล้านยูโร (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งทางสมาคมมองโลกในแง่ดี เกี่ยวกับอนาคตของพลังงานลมนอกชายฝั่งในยุโรป และคาดว่า กำลังการผลิตของทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งแห่งใหม่ จะอยู่ที่ประมาณ 5 กิกะวัตต์ต่อปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า.

เครดิตภาพ : AFP