ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับ เดือนเมษายน ที่เป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดของประเทศไทย และเริ่มเข้าสู่เดือนพฤษาคม ที่ถือเป็นเดือนที่กำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนกันแล้ว!!

สำหรับเดือนเมษายน ปี 66 ที่ผ่านมานี้ ถือว่าสภาพอากาศร้อนอย่างมาก โดยมีอุณภูมิสูงสุดวัดได้  44.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาตาก

ถือเป็นสถิติอุณภูมิสูงสุดเทียบเท่าในอดีตเมื่อปี 59 ที่วัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส เช่นกัน ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ซึ่งสาเหตุอากาศร้อนจัด ในปี 2566 นี้นั้น ทาง กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เกิดจากสาเหตุ คือ ในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ประเทศไทยมีอากาศหนาวยาวนานต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับมีการเผาป่าในหลายๆ พื้นที่ จนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าฤดูร้อนปี 2565

รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการขยายตัวของเมืองก็เป็นสาเหตุหลักสำคัญ ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ที่ถือเป็น “เมืองร้อน” อยู่แล้ว ที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงที่สุดที่ไหนบ้าง วันนี้ “เดลินิวส์” พามาเปิด 10 อันดับอุณหภูมิสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทาง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เก็บสถิติและข้อมูลไว้ มีอุณภูมิเท่าไร? และที่ไหนบ้าง?  ไปดูกันเลย เริ่มที่….

อันดับที่ 1 อุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียส สถานที่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2559 และ ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาตาก เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566

อันดับที่ 2 อุณหภูมิ 44.5 องศาเซลเซียส สถานที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ วันที่ 27 เมษายน 2503 และจังหวัดสุโขทัย วันที่ 11 พฤษภาคม 2559

อันดับที่ 3 อุณหภูมิ 44.3 องศาเซลเซียส สถานที่ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ วันที่ 12 เมษายน 2559

อันดับที่ 4 อุณหภูมิ 44.2 องศาเซลเซียส สถานที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง วันที่ 18 เมษายน 2562

อันดับที่ 5 อุณหภูมิ 44.1 องศาเซลเซียส สถานที่ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2501, จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2502 และจังหวัดสุโขทัย วันที่ 13 พฤษภาคม 2559

อันดับที่ 6 อุณหภูมิ 44 องศาเซลเซียส สถานที่ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550, จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ วันที่ 15 พฤษภาคม 2553, จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559, จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 และ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559

อันดับที่  7 อุณหภูมิ 43.9 องศาเซลเซียส สถานที่ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2503, เชื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 และ วันที่ 11 พฤษภาคม 2559, วันที่ 18 เมษายน 2562 และ จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559

อันดับที่ 8 อุณหภูมิ 43.8 องศาเซลเซียส สถานที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559, จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 และจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559

อันดับ 9 อุณหภูมิ 43.7 องศาเซลเซียส สถานที่ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก วันที่ 26 เมษายน 2541, จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2559, จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2559, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 17, 19 และ 20 เมษายน 2562

อันดับที่ 10 อุณหภูมิ 43.6 องศาเซลเซียส สถานที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2503 และวันที่ 11 พฤษภาคม 2559, จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2526, จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 9  พฤษภาคม 2541 และ วันที่ 16 พฤษภาคม 2553, จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550, จังหวัดลำพูน เมื่อ 12 เมษายน 2559, จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อ 17 เมษายน 2559, เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 และ จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 

**หมายเหตุ**

พ.ศ. 2559 เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ่ กำลังแรงส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกรวมทั้งประเทศไทยสูงกว่าค่าที่เคยตรวจวัดได้ในอดีต

พ.ศ. 2562 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงช่วงกลางปีเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ่กำลังอ่อน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงสุดในปีนี้

พ.ศ. 2564 เกิดปรากฏการณ์ลานีญากำลังปานกลาง ฤดูร้อนปี 64 อากาศไม่ร้อนอบอ้าว และมีฝนสูงผิดปกติในเดือนเมษายน 2564

พ.ศ. 2565 เกิดปรากฏการณ์ลานิญญากำลังอ่อน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 64 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สำหรับปี 67 หรือในปีหน้า คาดการณ์ว่าจะเกิดรากฏการณ์เอลนินโญ่ ที่อาจจะส่งผลกับอุณภูมิของประเทศไทย คงต้องติดตามกันว่าจะทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนสูงสุดในหลายพื้นที่เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในปี 59 หรือไม่!?!