เมื่อทิศทางของกระแสโลกเห็นพ้องต้องกันว่า การจะพัฒนาประเทศของตนให้ไปสู่ความยั่งยืนที่เป็นจริงได้นั้น จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และสติปัญญามากกว่าทรัพยากรธรรมชาติ “อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park)” จึงถือกำเนิดขึ้น
ทำความรู้จัก Science Park พร้อมรับฟังมุมมองจากผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเทศไทยด้วย “กลไกการทำงานของอุทยานวิทยาศาสตร์” กับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย หรืออาจารย์วิน ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บุคคลที่เลือกเดินในวงการเส้นทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมกว่า 15 ปี

จุดกำเนิดของอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) บนแผนที่โลก ในฐานะความหวังใหม่ของมนุษยชาติ
หากเอ่ยถึง “อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park)” แน่นอนว่าต้องมีส่วนเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยว่าการเกิด Science Park บนโลกใบนี้นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากกระบวนการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกันว่า Research, Technology & Innovation (RTI) ซึ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสหรัฐฯ ให้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ช่วยสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วน ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการสร้างคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม พร้อมกับภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงมีการผลักดันและสนับสนุนการขับเคลื่อนกลไก การดำเนินงานในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การจัดตั้ง “Science Park” ขึ้นมา จากนั้นจึงเกิดการกระจายแนวคิดนี้ไปยังหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก

การก่อเกิด Science Park ในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยเราก็มี Science Park ที่เรียกว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์” หรือ “นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นการผสานรวมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science & Technology & Innovation : STI) เข้าด้วยกัน โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research Development Innovation : RDI) เป็นแกนหลักในการดำเนินงานซึ่งมีที่มาจากการวิเคราะห์ Model ของต่างประเทศมาอย่างเข้มข้น จนเราพบว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ในประเทศอื่น ๆ มักมีขนาดใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และมีทรัพยากรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศจึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้าง “University Science Park” ภายในประเทศขึ้นมา โดยนำทรัพยากรจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักวิจัย เครื่องมือวิจัย องค์ความรู้ และงานวิจัยต่าง ๆ มาพัฒนาหรือปรับปรุงไปสู่กระบวนการผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยจุดสูงสุดที่มหาวิทยาลัยจะสามารถพัฒนาไปได้ คือ การมีห้องปฏิบัติการ (Laboratory) และต่อยอดไปสู่โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ซึ่งจำเป็นต้องทดสอบสมมุติฐานและตรวจสอบตลาดก่อนว่าผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ หรือที่เรียกว่าการทำ “Market Validation” นั่นเอง

อุทยานวิทย์ฯ มช. และบทบาทการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภาคเหนือให้เติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อย้อนกลับมาที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) นอกจากการทำหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เรายังเป็นฐานให้กับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (Regional Science Park, North : RSP North) ในระดับภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน STeP ทำหน้าที่ในการสร้างห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ (Value Chain) ให้มีความเข้มแข็งมากที่สุด ด้วยความเชื่อที่ว่า “ถ้าเกิดธุรกิจที่เกี่ยวกับนวัตกรรมขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ตาม เราต้องทำหน้าที่เพิ่มช่องทางและสร้างกำไร ด้วยการขยาย Value Chain ให้ได้ยาวมากที่สุด โดยมีจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดตั้งแต่ซัพพลาย (Supply) ไปจนถึงปลายดีมานด์ (Demand) มากที่สุด จึงจะทำให้สามารถอัพสเกลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”

และด้วยสาเหตุนี้ เราจึงได้รับโอกาสในการพัฒนาแผนแม่บทระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor :NEC Master Plan) ในการเชื่อมโยงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง เพื่อก่อให้เกิดเครือข่ายทางเศรษฐกิจในลักษณะ Corridor ที่พร้อมต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด BCG Economy

อาจารย์วิน ได้กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ จำเป็นต้องมีการจัดตั้งรูปแบบองค์กรที่หลากหลาย ทั้งวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจ SMEs และ Startup ที่มีการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในการผลิตสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่ง STeP มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่มีอยู่แล้ว พร้อมช่วยพัฒนาและขยายธุรกิจให้เติบโตใหญ่ขึ้น ส่วนธุรกิจที่ยังไม่มี เราจะนำมาบ่มเพาะและพัฒนาให้เป็น Startup Company โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาผสานกับการพัฒนาธุรกิจที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง Value Chain ที่แข็งแกร่งต่อไป

ก้าวถัดไปของ STeP
อาจารย์วิน เผยว่า ในปัจจุบันอุทยานฯ ได้เข้าสู่ระยะที่ต้องการขยับขยาย เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของสตาร์ทอัพในเครือข่ายให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงต้องพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ให้สามารถสร้าง New S-Curve ด้วยนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะทำตลาดให้สินค้าและบริการของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก (Global Market) เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งในอนาคตคาดหวังว่า จะมีสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจัดเตรียมพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาทดลองและพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยให้สามารถสร้างและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ถึง 7,000 ล้านคน แทนที่จะจำกัดอยู่เพียง 70 ล้านคน

“หากในวันนี้ไม่มีอุทยานวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่มีตัวเชื่อมโยงทุกภาคส่วน”
แน่นอนครับว่า ประเทศชาติของเรายังต้องเหนื่อยอีกมากเพราะไม่ได้ร่วมมือทำงาน ทั้งในการสร้างความทันสมัยและพัฒนาสินค้าที่จะก่อให้เกิด GDP ของประเทศ รวมถึงการต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศในอนาคต โดยต้องนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ ประเทศไทยจะขาดการรวมบุคลากรที่มีมุมมองทางการค้าในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเกิดขึ้นได้ยาก เห็นได้ชัดว่า หากเราต้องการทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประเทศของเราจำเป็นต้องมีอุทยานวิทยาศาสตร์ และหากไม่มี GDP ของประเทศจะไม่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

“ในวันนี้เราวิ่งอยู่ ในขณะที่คนอื่นก็วิ่งอยู่เหมือนกัน
ถ้าเราไม่สร้าง STeP ขึ้นมาในวันนี้ ก็เทียบเท่าเราหยุดวิ่ง”