ฉลามได้ชื่อว่าเป็นนักล่าแห่งท้องทะเล จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีความเชื่อต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับนิสัยที่ดุร้ายของมัน อีกทั้งการที่ได้รับบทบาทเป็น “ตัวร้าย” ในภาพยนตร์หลายเรื่องที่โด่งดัง เช่น Jaws หรือแม้กระทั่งแอนิเมชันอย่าง Finding Nemo ทำให้ยิ่งตอกย้ำว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่ไม่ควรเข้าใกล้

ภาพลักษณ์ที่ดูกระหายเลือดของฉลาม ทำให้คนมีความเชื่อมันเป็นสัตว์ที่รับรู้กลิ่น “เลือด” ในท้องทะเลได้ไว แม้อยู่ในระยะห่างระดับกิโลเมตร แต่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร กลับไม่ค่อยมีคนรู้มากนัก

มาร์ค โรเบอร์ ยูทูบเบอร์คนดังผู้มีดีกรีเป็นถึงอดีตวิศวกรจาก “นาซา” เป็นคนหนึ่งที่ข้องใจในเรื่องนี้มานานและในปี 2562 เขาก็ทำการทดลองขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ว่าความเชื่อดังกล่าวมีมูลความจริงหรือไม่

ปฏิบัติการของ โรเบอร์ เป็นการทดลองแบบจริงจัง มีการเตรียมการและตั้งสมมุติฐาน ประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อเก็บข้อมูลอย่างเป็นขั้นตอน 

หลังจากเตรียมการต่าง ๆ เรียบร้อย โรเบอร์ ก็นำเรือพร้อมอุปกรณ์ทดลองและ ลุค ทิปเปิล นักชีววิทยาทางทะเลควบตำแหน่งนักประดาน้ำ ออกไปยังจุดที่มีฉลามชุกชุมแถวหมู่เกาะบาฮามาส์ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งไปประมาณ 30 กม.เศษ 

นอกจากจะพิสูจน์ความเชื่อเรื่องความ “จมูกไว” ของฉลามแล้ว เขายังอยากพิสูจน์ว่าฉลามจะคลุ้มคลั่งในทันทีที่ได้กลิ่นเลือดตามที่คนทั่วไปเชื่อกันหรือไม่ จึงมีการเตรียมของเหลวอย่างอื่น นอกเหนือจากเลือดสด ๆ ไปด้วย เพื่อเปรียบเทียบกัน

อุปกรณ์ในการทดลองของ โรเบอร์ จะติดตั้งอยู่บนกระดานโต้คลื่น 4 แผ่น ทั้งหมดควบคุมจากระยะไกล แต่ละชิ้นจะสามารถปั๊มของเหลว 4 ชนิด แต่ละชนิดมีจำนวน 2 ลิตร ซึ่งได้แก่ น้ำมันปลา, เลือดวัว, น้ำทะเลและน้ำปัสสาวะ ลงสู่ทะเลเป็นระยะ ๆ พร้อมกัน โดยกินเวลาประมาณ 1 ชม. 

ระหว่างนั้น โรเบอร์ และ ทิปเปิล จะเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บนเรือ โดยมีโดรนติดกล้องคอยบันทึกภาพจากมุมสูงว่ามีฉลามเข้ามายังกระดานโต้คลื่นแต่ละแผ่นเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด

ผลจากการทดลองใน 10 นาทีแรก พบว่าไม่มีความเคลื่อนไหวมากนักจน โรเบอร์ กล่าวว่า ต่อไปนี้คงไม่ต้องกังวลเวลาประสบเหตุจนมีเลือดออกในทะเล หรือในกรณีที่แอบปัสสาวะลงในทะเล ว่าจะกลายเป็นสาเหตุที่ดึงดูดให้ฉลามเข้ามาหา

เมื่อเวลาผ่านไปราว 20 นาที โรเบอร์ ก็พบว่าไม่ได้มีฉลามสนใจจะว่ายเข้ามาในบริเวณที่พวกเขาปล่อยของเหลวมากเท่าไหร่ จนกระทั่งถึงตอนสุดท้ายของการทดลอง พวกเขาจึงพบฉลาม 4 ตัว ว่ายเข้ามาสำรวจอุปกรณ์ที่ปล่อยน้ำมันปลา และไม่มีฉลามตัวไหนสนใจจุดที่ปล่อยน้ำทะเลและน้ำปัสสาวะ

แต่อุปกรณ์ที่ปล่อยเลือดวัวลงทะเลนั้น มีฉลามเข้ามาแวะเวียนสำรวจดูถึง 41 ตัว ก่อนจะจากไปด้วยความผิดหวังเมื่อพบว่าสิ่งที่ปล่อยเลือดออกมาไม่ใช่สิ่งมีชีวิต

โรเบอร์ จึงสรุปได้ว่า ฉลามสนใจเลือดมากกว่าของเหลวประเภทอื่นจริง ๆ แต่คำถามต่อไปก็คือ ต้องมีเลือดในปริมาณมากขนาดไหนจึงจะดึงดูดความสนใจของพวกมันได้

ต่อมา โรเบอร์ ได้ทำการทดลองชุดที่ 2 คราวนี้เขาใช้เลือดของตัวเองและทีมงานแทนการใช้เลือดวัวเหมือนตอนแรก เขาติดตั้งเลือดคน 4 ถุงเข้ากับกระดานโต้คลื่น 2 แผ่น คล้ายกับการติดตั้งในรอบแรก โดยมีอุปกรณ์ปล่อยน้ำทะเลอยู่ตรงกลางระหว่างเลือด 2 ชุด เพื่อแยกกลุ่มทดลอง

โรเบอร์ อธิบายในคลิปว่า กระดานทางซ้ายจะปั๊มเลือดคนลงทะเลอย่างช้า ๆ ในอัตรา 1 หยดต่อ 1 นาที ส่วนกระดานฝั่งขวาจะทำงานเร็วกว่าในอัตรา 1 หยดต่อ 4 วินาที

ผลของการทดลองครั้งที่ 2 พบว่า ไม่มีฉลามตัวไหนให้ความสนใจกระดานที่ติดตั้งอุปกรณ์ปล่อยเลือดทั้ง 2 จุดเลย ขณะที่มีฉลามมากมายว่ายวนอยู่รอบเรือ

โรเบอร์ สรุปว่า อาจกล่าวได้ว่าหากมีเลือดออกในอัตรา 15 หยดต่อนาทีเมื่ออยู่ในทะเล เราก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะกลายเป็นตัวล่อฉลามหรือทำให้ฉลามเกิดคลุ้มคลั่งและไล่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในน้ำได้

นอกจากนี้ ในปีต่อมา โรเบอร์ ยังทำการทดลองเกี่ยวกับฉลามอีกครั้ง และคราวนี้เขาพบว่าฉลามชอบกลิ่นเลือดของปลาด้วยกันมากกว่ากลิ่นเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในช่วงท้ายเขายังลงไปอยู่กรงล่อฉลามพร้อมกับปล่อยเลือดปลา ซึ่งทำให้ฉลามจำนวนมากเข้ามารุมกรงที่มีเขาอยู่ข้างใน

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : YouTube / Mark Rober