“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2568 จำนวน 1,000 ล้านบาท  เพื่อก่อสร้างสะพานบางระจัน (ตัวใหม่) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บนทางหลวงหมายเลข 311 (ทล.311) บริเวณจุดตัดทางแยกศาลหลักเมืองถึงแยกไกรสรราชสีห์  พื้นที่ ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี รวมถนนต่อเชื่อมระยะทาง 1.5 กิโลเมตร (กม.) มีแผนก่อสร้างปี 68 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เปิดบริการปี 71

สำหรับรูปแบบสะพานบางระจัน (ตัวใหม่) ความยาว 285 เมตร เป็นสะพานเหล็กคานโค้งคันธนูแห่งแรกของประเทศไทย มีระบบเคเบิลแบบเครือข่าย (Network Tied Arc Bridge) แสดงสัญลักษณ์ความร่วมแรงร่วมใจของชาวบางระจัน  ความยาวช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 150 เมตร ขนาด 3 ช่องจราจร ปรับเป็น 4 ช่องได้ในอนาคต การใช้รูปแบบสะพานโค้งคันธนู ทำให้ก่อสร้างรวดเร็วขึ้น  ลดจำนวนตอม่อในแม่น้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุพิเศษลดการกัดกร่อนสูง และลดงบประมาณบำรุงรักษาระยะยาว  รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ให้เป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีสะพานบางระจัน 2 ตัว บน ทล.311 พื้นที่ ต.บางมัญ  ตัวที่ 1 (ตัวเก่า) ตอนแยกวัดสนามไชย-วัดกระดังงา ช่วง กม.32+020-32+280 ความยาวสะพาน 260 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร สภาพทรุดโทรมเพราะใช้งานมานาน สร้างปี 2500-ปัจจุบัน (ปี 67) ระยะเวลา 67 ปี รองรับรถจาก ทล.32 (ถนนสายเอเชีย) เข้าเมืองสิงห์บุรี  ตัวที่ 2 ตอนแยกวัดสนามไชย-วัดกระดังงา ช่วง กม.31+983-32+253 ความยาวสะพาน 370 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร สร้างปี 2542-ปัจจุบัน (ปี 67) อายุใช้งาน 25 ปี

สะพานตัวที่ 1 กับ ตัวที่ 2 สร้างคู่ขนานกัน ขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่อง รองรับรถขาออกเมืองสิงห์บุรีเชื่อมถนนสายเอเชีย  ปริมาณการจราจรเฉลี่ย 11,529 คันต่อวัน  สะพานบางระจันตัวใหม่ซึ่งเป็นตัวที่ 3  จะสร้างทดแทนสะพานตัวที่ 1 (ตัวเก่า) ที่จะทุบทิ้งให้เหลือสะพานตัวที่ 2 ขนาด 2 ช่องจราจร  เบื้องต้นได้ประเมินแผนการจัดจราจรโดยเปิดวิ่งแบบสวนเลน ไป-กลับระหว่างก่อสร้างโดยรับรถในปัจจุบันได้เพียงพอและทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ใช้เส้นทางเลี่ยงแทนเพื่อบรรเทาผลกระทบ  อนาคตหากสะพานตัวที่ 2 เริ่มทรุดโทรมโครงสร้างไม่ปลอดภัยแล้ว ทล. จะเพิ่มช่องจราจรบนสะพานบางระจัน (ตัวใหม่) อีก 1 ช่องทางรวมเป็น 4 ช่อง ไป-กลับ เพื่อทดแทนการใช้งานสะพานตัวที่ 2 ที่จะทุบทิ้งในอนาคตด้วย

สำหรับ ทล.311 เป็นทางหลวงสายหลักเชื่อมโยงการเดินทางจาก ทล.32 (ถนนสายเอเชีย) และพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านทางแยกต่างระดับสิงห์บุรีใต้  รวมถึงการเดินทางจากทิศเหนือของพื้นที่โครงการผ่านทางแยกต่างระดับสิงห์บุรีเหนือเข้าสู่ ทล.335 (สายทางต่างระดับสิงห์บุรีเหนือ-สิงห์บุรี)  แล้วบรรจบกันที่ทางแยกไกรสรราชสีห์ ก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าพื้นที่เศรษฐกิจหลัก จ.สิงห์บุรี ฝั่งตะวันตก โดยมีทางแยกศาลหลักเมืองเป็นจุดรวม และกระจายการจราจรในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา