สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคีเปิดตัวโครงการ “หายใจสบาย, ใช้ชีวิตเต็มที่: ผู้ป่วยโรคหืดต้องไม่เสียชีวิต” หรือ “Breathe Easy, Live Fully: Towards Zero Asthma Deaths” เพื่อร่วมมือกันลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดให้เหลือน้อยที่สุด โดยคาดหวังให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดในประเทศไทยลดลงเหลือศูนย์ในระยะเวลาสิบปี เป็นการร่วมมือระหว่าง 7 องค์กรทางการแพทย์ ได้แก่ สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันโรคหืดโลก

โดยในงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันโรคหืดโลก ณ ห้องประชุมเวิล์ดบอลรูมซี ชั้น 23 โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล เวิล์ด กรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากทั้ง 7 องค์กรเข้าร่วมเปิดโครงการ ได้แก่ รศ. พญ. ชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย กรรมการบริหาร ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ศ. พญ. อรุณวรรณ พฤทธิพันธ์ นายกสมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย, รศ. นพ. แจ่มศักดิ์ ไชยคุนา นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, รศ. นพ. ฮิโรชิ จันทาภากุล นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย, พล.ท. รศ. นพ. วิชัย ประยูรวิวัฒน์ ตัวแทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, นพ. จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พญ. ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

รศ.นพ.ฮิโรชิ กล่าวถึงการริเริ่มโครงการ ว่า พร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคีองค์กรต่างๆ ทุกองค์กร ได้แก่ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติในเด็กแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งประเทศไทย และกรมการแพทย์ ซึ่งทางสมาคมโรคภูมิแพ้ฯ จะได้มีการรวบรวมและติดตามข้อมูลของผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนร่วมกับภาคีองค์กรต่างๆ และเสนอแนวทางต่างๆ ในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดให้เหลือน้อยที่สุด โดยคาดหวังให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดในประเทศไทยลดลงเหลือศูนย์ในระยะเวลาสิบปี

รศ. นพ. แจ่มศักดิ์ กล่าวถึง โรคหืดในผู้ใหญ่ ว่า สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ โดยการใช้ยารักษาควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยยาหลักเป็นยาสเตียรอยด์แบบสูดหรือพ่น ร่วมกับการใช้ยาขยายหลอดลมเมื่อเกิดอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน แต่ในความเป็นจริง ยังมีปัญหาการใช้ยาควบคุมโรคไม่สม่ำเสมอ การใช้ยาไม่ถูกวิธี นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดชนิดรุนแรง แม้จะใช้ยาควบคุมสม่ำเสมอ จำนวนหลายหมื่นคนในประเทศไทย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหืดสูงกว่าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงหลายเท่า รวมถึงผู้ป่วยโรคหืดที่มีโรคร่วมที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคหืดเช่น โรคอ้วน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคหืดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ศ. พญ. อรุณวรรณ กล่าวถึง อาการกำเริบรุนแรงในผู้ป่วยเด็กโรคหืด ว่า เป็นสถานการณ์ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างรวดเร็ว และมักจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต การลดอาการกำเริบรุนแรงในเด็กสามารถทำได้โดยผู้ป่วยใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และการมีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินความเหมาะสมของการรักษาที่กำลังใช้อยู่ นอกจากนี้ การสร้างความตระหนักรู้ในครอบครัวเกี่ยวกับความสำคัญของการจัดการกับสิ่งกระตุ้นและการรักษาอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการจัดการที่เหมาะสมและการเข้าถึงการรักษาที่ดี รวมทั้งส่งเสริมการใช้ยาและอุปกรณ์ที่เหมาะสม จะช่วยให้เด็กมีชีวิตที่มีคุณภาพดีขึ้น ลดความจำเป็นในการรักษาฉุกเฉินและการนอนโรงพยาบาล

รศ. พญ. ชลีรัตน์ กล่าวถึง โรคหืดในเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยและมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้ป่วยเด็กและครอบครัว ว่า ส่งผลรบกวนสมรรถภาพการเรียนและกิจวัตรประจำวันของเด็ก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประมาณการความชุกของโรคหืดในเด็กไทยเท่ากับร้อยละ 10 โดยมีอัตราการนอนโรงพยาบาลประมาณ 30,000 ครั้งต่อปี และมีการเสียชีวิตจากโรคหืดสูงถึงประมาณ 300 คนต่อปี สิ่งเหล่านี้สร้างภาระที่มีนัยสำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ การสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับโรคหืดถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ การออกนโยบายสาธารณสุขเรื่องลดการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นของโรคหืดอย่างจริงจัง เช่น ควันบุหรี่และมลพิษ สามารถช่วยลดการกำเริบของโรคได้ นอกจากนี้การพัฒนานโยบายที่ช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น

พล.ท. รศ. นพ. วิชัย กล่าวถึง โรคหืด เป็นการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ว่า ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้หรือมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้หลอดลมหดเกร็ง ผนังหลอดลมบวมและสร้างสารคัดหลั่งหรือเสมหะมากขึ้น ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด ไอ โดยเฉพาะเมื่ออาการกำเริบ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน ความชุกของโรคหืดในผู้ใหญ่ของประเทศไทย พบประมาณร้อยละ 4-7 หรือประมาณสามล้านคน ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการกำเริบรุนแรงอาจเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากการสำรวจข้อมูลสาธารณสุข พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหืด 4,182 คนต่อปีหรือ 11-12 คนต่อวัน คิดเป็นประมาณ 4 คน ต่อประชากรแสนคน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหืดนี้ ลดลงเพียงเล็กน้อยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมีแผนการที่ดูแลผู้ป่วยโรคหืดและทรัพยากรที่เพียงพอแล้วก็ตาม

นพ. จักรกริช กล่าวถึงความสำคัญของ สปสช. ว่า มีหน้าที่หลักในการจัดทำระบบประกันสุขภาพเพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการสุขภาพทุกเขตและยกระดับการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพที่ดีตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการสุขภาพ โรคหืดนับปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการสนับสนุนศักยภาพสถานพยาบาลของรัฐให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว สนับสนุนสร้างเครือข่าย การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ สปสช.

พญ. ปิยะธิดา มีความเห็นว่า กรมการแพทย์ ตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาของโรคหืด โดยได้สร้างเครือข่ายการดูแลโรคอื่นในโรงพยาบาลตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ เพื่อช่วยให้แพทย์ทั่วไปสามารถประเมินติดตามอาการและสั่งจ่ายยาตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นได้อย่างถูกต้อง แต่ก็ยังมีผู้ป่วยในประเทศไทยที่เสียชีวิตจากโรคหืดทุกปีโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ที่อาจมีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมการแพทย์จะต้องยกระดับศักยภาพและการตระหนักถึงปัญหาในโรงพยาบาลทุกระดับ การมีโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิที่รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีโรคหืดรุนแรง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การให้ความรู้กับผู้ป่วยในการดูแลตัวเองและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง และทำงานร่วมกับภาคีองค์กรในวันนี้ในการทำให้อัตราผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหืดลดลงให้มากที่สุด