สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ว่า สมาชิกยูเอ็นกว่า 190 ประเทศ เห็นพ้องกับสนธิสัญญาฉบับใหม่ เกี่ยวกับการต่อสู้การละเมิดลิขสิทธิทางชีวภาพ และควบคุมสิทธิบัตรที่เกิดจากทรัพยากรพันธุกรรม อาทิ พืชสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม

หลังการเจรจาที่ยืดเยื้อ บรรดาผู้แทนต่างเห็นชอบและสนับสนุน “สนธิสัญญาไวโปฉบับแรกจะจัดการกับทรัพย์สินทางปัญญา, ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิม” องค์การไวโประบุในแถลงการณ์ หลังการเจรจาเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของการคว่ำบาตรผู้กระทำความผิด ทำให้เกิดการถกเถียงระหว่างประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ตามรายงานของไวโป บริษัทต่าง ๆ ใช้ทรัพยากรพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้นหลายภาคการผลิต ตั้งแต่เครื่องสำอาง, เมล็ดพันธุ์, ยา, เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารเสริม ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากในด้านสุขภาพ, สภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร 

หลังหารือกันมานานกว่า 20 ปี รัฐสมาชิกของไวโปมากกว่า 190 ประเทศ ได้เริ่มการเจรจาเพื่อสรุปสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ณ สำนักงานของหน่วยงานด้านนวัตกรรมและการจดสิทธิบัตรของสหประชาชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา “มันเป็นอนุสัญญาที่สมจริงและสมดุล” ผู้เจรจาจากประเทศตะวันตกกล่าว ก่อนการบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้าย

เนื้อหาในสนธิสัญญาระบุว่า ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรจะต้องเปิดเผยว่า ทรัพยากรพันธุกรรมที่ใช้ในการประดิษฐ์นั้นมาจากไหน และเปิดเผยชนพื้นเมือง ซึ่งให้ความรู้ดั้งเดิมที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายของการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ การรับรองว่าสิ่งประดิษฐ์นั้นเป็นของใหม่อย่างแท้จริง และประเทศและชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เห็นด้วยกับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของตน เช่น พันธุ์พืชที่ได้รับการเพาะปลูกมาตามกาลเวลา และภูมิปัญญาดั้งเดิมรอบตัวพวกเขา

แม้ทรัพยากรพันธุกรรมธรรมชาติ อาทิ พืชสมุนไพร, พืชผลทางการเกษตร และพันธุ์สัตว์ ไม่สามารถถูกคุ้มครองโดยตรงในฐานะทรัพย์สินทางปัญญา แต่สิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาโดยใช้ทรัพยากรเหล่านี้ สามารถจดสิทธิบัตรได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งให้เผยแพร่ต้นกำเนิดของนวัตกรรม ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจึงกังวลต่อการออกสิทธิบัตรที่ก้าวข้ามสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง

นายแอนโทนี สก็อตต์ ท็อบแมน ผู้ก่อตั้งแผนกภูมิปัญญาดั้งเดิมของไวโป เมื่อปี 2544 ระบุว่า “ผมจะไม่กล่าวไปไกลถึงขนาดบอกว่ามันเป็นการปฏิวัติ” เขาพูดถึงสนธิสัญญาดังกล่าว “ตามแนวคิดแล้ว เรากำลังให้ความสนใจกับการยอมรับว่าการยื่นขอสิทธิบัตร ไม่ได้เกี่ยวกับขั้นตอนทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่คือการตระหนักว่าเราถูกคุ้มครองทางกฎหมาย”

นายกิแยร์เม เด อากีอาร์ ปาทริโอตา เอกอัครราชทูตบราซิลประจำยูเอ็น ซึ่งเป็นประธานการเจรจาครั้งนี้ ยกย่องสนธิสัญญาฉบับใหม่ เป็นผลลัพธ์ที่สมดุลของการเจรจาอย่างระมัดระวัง “สิ่งนี้ถือเป็นการประนีประนอมดีที่สุดที่เป็นไปได้ และเป็นวิธีแก้ปัญหาซึ่งได้รับการกำหนดอย่างรอบคอบ ผ่านความพยายามในการเชื่อมโยง และสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะกับทรัพยากรบางชนิดที่ถูกปกป้องอย่างและดูแลมานานหลายทศวรรษ”

การคว่ำบาตรเป็นอุปสรรคสำคัญ และประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งต้องการให้เพิกถอนสิทธิบัตรอย่างง่ายดาย หากผู้ถือไม่ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับความรู้และทรัพยากร อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ร่ำรวยมีมุมมองไม่ดีต่อทางเลือกนี้ เนื่องจากกลัวว่า การคว่ำบาตรอย่างหนัก จะเป็นเพียงการขัดขวางนวัตกรรม “ความยากลำบากมาจากการพยายามให้ประเทศซึ่งมีกฎหมายสำคัญอยู่ และประเทศที่ไม่มีกฎหมายมาบรรจบกันให้ได้” ผู้แทนเจรจาจากประเทศตะวันตกกล่าวถึงการคว่ำบาตร

มากกว่า 30 ประเทศ มีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายภายในประเทศของตน ส่วนใหญ่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา รวมไปถึงจีน, บราซิล, อินเดีย และแอฟริกาใต้ และประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการเปิดเผยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และไม่ได้เป็นข้อบังคับ

อย่างไรก็ดี ข้อความในสนธิสัญญาระบุว่า ประเทศต่าง ๆ “จะต้องให้โอกาสแก้ไขความล้มเหลวในการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น ก่อนที่จะดำเนินการคว่ำบาตร” แต่ประเทศนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องขยายโอกาสดังกล่าว ในกรณีที่ “มีพฤติกรรมหรือเจตนาฉ้อโกงตามที่กฎหมายภายในประเทศกำหนด” โดยประเทศกำลังพัฒนาได้เรียกร้องความโปร่งใส เกี่ยวกับแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม แต่อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการเจรจาเพื่อลดจำนวนเอกสาร 5,000 หน้า เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวให้ตรงตามข้อตกลง.

เครดิตภาพ : AFP