นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ MORIZO เปิดเผยว่า การแข่งขัน ENEOS Super Taikyu Series 2024 Empowered by BRIDGESTONE หรือ Super Taikyu Series ครั้งนี้ทีม Rookie Racing ส่งรถลงแข่ง 3 คัน คือหมายเลข 1, 28 และ 32 โดยหมายเลข 1 เป็นคันที่ชนะเลิศปีที่แล้ว ในปีนี้ก็หวังที่จะชนะเลิศเช่นกัน ขณะที่หมายเลข 28 และ 32 นั้น เป็นสองคันที่จะทำการทดสอบความเป็นกลางทางคาร์บอน เราได้สร้างตัวเลือกที่หลากหลายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน โดยการใช้รถ 2 คันนี้มาทดสอบในสนามแข่งจริง เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวเลือกที่หลากหลาย

“3 ปีผ่านไป มีคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดพวกเรา มาเป็นเพื่อนเรามากขึ้น และในครั้งนี้เราก็ต้องการที่จะหาเพื่อนให้มากขึ้นเช่นกัน ตัวผมจะขับรถแข่งหมายเลข 32 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ใช้ไฮโดรเจน คิดว่าจะขับให้มากรอบที่สุดและให้นานที่สุด เพื่อสร้างตัวเลือกของอนาคตขึ้นมาใหม่ อยากจะให้ทุกคนให้กำลังใจ”

สำหรับ เทคโนโลยีใหม่ที่ใส่มากับรถแข่งในปีนี้ใกล้ที่จะใช้กับรถจริงแล้วหรือยังนั้น คุณโมริโซะ กล่าวว่า เราพยายามพัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้ได้ในอนาคต ส่วนเครื่องยนต์ไฮโดรเจนก็เหมือนกับรถไฟฟ้า (อีวี) ต้องมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีในตัวรถและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่อย่างนั้น คงไม่สามารถใช้ได้จริง การที่เรามาเปิดตัวเทคโนโลยีในครั้งนี้ ก็เพื่อให้คนที่เห็นด้วยกับเรา มาเป็นเพื่อนเราพัฒนากันเพิ่มมากขึ้น ก็หวังให้ทุกคนในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย มาร่วมกันสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนให้หลากหลายเพื่ออนาคต

ตอนนี้มีทีมอื่น ๆ เขาไปใน direction เดียวกันหรือไม่? นายโมริโซะ กล่าวว่า “ใช่ครับ ทีมอื่นที่ OEM เช่น ซูบารุ มาสด้า ให้การสนับสนุน ก็พยายามผลักดันเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ นิสสัน ฮอนด้า และผู้ผลิตอื่น ก็เข้ามาร่วมที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ผมอยากให้ทุกคนจับตามมองการที่หลายฝ่ายเข้ามาร่วมกันในครั้งนี้ด้วย”

“เราต้องการเปลี่ยนอนาคต โดยนำข้อมูลที่ได้ระหว่างการแข่งขันมาพัฒนายิ่งมากเท่าไรจะยิ่งดีเท่านั้น เราจึงอยากจะขับให้สนามแข่งนานที่สุดแม้วินาทีเดียวหรือไกลที่สุดแม้เมตรเดียวก็ตาม และเราอยากจะให้ทุกคนสังเกตพิต (Pit) ของทีม ROOKIE Racing ถ้าเปรียบเทียบกับ Pit ทั่วไป จะเงียบกว่ามาก เพราะเราใช้ไฟฟ้าที่ได้จากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เรานำรถโตโยต้า มิไร (Mirai) มาเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมาได้เก็บข้อมูล 3 ปีที่เรามาแข่ง ได้ใช้ไฮโดรเจนไปเท่าไร? พบว่าเท่ากับปริมาณไฟฟ้า 1 ปีที่ 1 ครัวเรือนทั่วไปใช้จริง หรือลงแข่ง 6 ครั้ง ได้พิสูจน์ว่าเป็นการใช้ไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้าเท่ากับไฟฟ้าที่ 1 ครัวเรือนใช้ไป 365 วัน นอกจากนี้ การใช้ไฮโดรเจนใน 6 สนามแข่งนี้ เทียบเท่ากับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของ 1 ครัวเรือนที่ปล่อยออกมา 3 ปี เหล่านี้เป็นข้อมูลที่เราพิสูจน์ได้จากการลงแข่ง”

นายอากิโอะ กล่าวว่า การใช้เวลาเติมไฮโดรเจนครั้งนี้ครั้งดีกว่าที่ผ่านมาเพราะได้พัฒนาขึ้นอีกระดับ โดยวิ่ง 1 ชม. จึงเข้ามาเติม 1 ครั้งให้เต็ม แตกต่างจากเดิมที่จะวิ่งได้แค่ 20 นาที ก็ต้องออกไปเติมแก๊สนอกสนามใช้เวลาร่วม 10 นาที แต่ตอนนี้ใช้เวลาเติมไม่ต่างจากเติมน้ำมันใน pit เลย พอแข่งร่วมกับรถแข่งคันอื่น คุณอาจจะไม่รู้เลยว่ารถแข่งหมายเลข 32 ใช้ไฮโดรเจน

สำหรับการแข่งขันในไทยที่ผ่านมา รถใช้ก๊าซไฮโดรเจน แต่ที่นี่พัฒนามาใช้ไฮโดรเจนเหลว หมายความว่ารถที่แข่งในวันนี้ได้รับการยกระดับขึ้นมากจากที่แข่งในประเทศไทย และการเติมเชื้อเพลิงก็ดีขึ้นกว่าเดิม การที่เราพัฒนารถผ่านการแข่งในสนามแข่ง หมายความว่ารถที่มาแข่งในสนามล่าสุดจะดีขึ้นกว่าเดิมมาก และมีเพื่อนที่เห็นด้วยกับเรามากขึ้นกว่าเดิม และคิดว่าคนที่ชอบมอเตอร์สปอร์ตในไทยก็มีอยู่มากด้วยเช่นกัน อยากให้มาร่วมกันทำให้โลกเราที่สนุกสนานได้อยู่แล้วในปัจจุบัน มีความสนุกสนานมากขึ้นกว่าเดิม

ต่อข้อถามที่ว่ารายการ Super-Taikyu นี้มีโอกาสที่จะเข้าไปประเทศไทยหรือไม่ นายอากิโอะ กล่าวว่า ผมจะขึ้นตำแหน่งเป็น Top ของ Super Taikyu Organization ในเดือนมิถุนายน หากการแข่งขัน 25 ชั่วโมงที่บุรีรัมย์ ที่ประเทศไทย และการแข่งขันฟูจิ 24 ชั่วโมงเป็นซีรีส์เดียวกัน ผมว่าคงเป็นความท้าทายที่ดีสำหรับนักแข่งชาวไทย.