เมื่อวันที่ 26 พ.ค. มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพลเสนอผลสำรวจเรื่อง มนุษย์เงินเดือน กับ ความสุข กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,182 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21–25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา พบว่า พฤติกรรมติดตามข่าวสารของมนุษย์เงินเดือนนั้นส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 ระบุ ติดตามข่าวสารบ่อยๆ ร้อยละ 21.7 ระบุไม่บ่อย และร้อยละ 5.8 ระบุ ไม่เลย

เมื่อถามถึงความสุขของมนุษย์เงินเดือน 5 อันดับแรกพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.5 ระบุ มีเพื่อน ร้อยละ 57.2 ระบุ มีครอบครัวดี ร้อยละ 56.6 ระบุ มีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังที่มี ร้อยละ 53.4 ระบุ มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม เรียนรู้สิ่งใหม่ ค้นคว้าเพิ่มเติม และร้อยละ 44.7 ระบุ มีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความทุกข์หรือสุขน้อยของมนุษย์เงินเดือน 5 อันดับแรกพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 46.3 ระบุ เมื่อนึกถึง เงินในกระเป๋า (เงินไม่พอใช้) ร้อยละ 26.2 ระบุ เมื่อนึกถึง การพักผ่อน (พักผ่อนไม่พอ) ร้อยละ 24.5 ระบุ เมื่อนึกถึง ความเติบโตก้าวหน้าในอาชีพการงาน (อนาคตตีบตัน) ร้อยละ 23.0 ระบุ เมื่อนึกถึง ความปลอดภัย (ไม่ปลอดภัย) และร้อยละ 21.4 ระบุ เมื่อนึกถึง สุขภาพร่างกายของตนเอง (เจ็บไข้ได้ป่วย)

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงความสุขและความทุกข์หรือสุขน้อยของมนุษย์เงินเดือน มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่นั้นมีพฤติกรรมในการติดตามข่าวสารบ่อยๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ และความสุขของมนุษย์เงินเดือนขึ้นอยู่กับ การมีเพื่อนดี การมีครอบครัวที่ดี การได้ช่วยเหลือผู้อื่น มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ดี รวมถึงความปลอดภัยหรือคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ส่วนด้านความทุกข์หรือสุขน้อยนั้นมีทั้งเรื่องของเงินในกระเป๋า  การพักผ่อน การเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน รวมถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยและสุขภาพการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย