เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงภาพรวมสถานการณ์โควิดพบ ผู้ป่วยรายใหม่ 9,866 ราย, ยอดสะสมผู้ป่วย 1,667,097 ราย, รักษาหายเพิ่ม 10,115 ราย, รักษาตัวอยู่ 108,022 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 3,017 ราย, ใส่เครื่องช่วยหายใจ 720 ราย, เสียชีวิตรายใหม่ 102 ราย ทำให้มียอดสะสมของผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน 17,305 ราย ส่วนจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-5 ต.ค.มีทั้งสิ้น 56,656,247 โด๊ส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 33,505,887 ราย, เข็มที่ 2 จำนวน 21,595,916 ราย, เข็มที่ 3 จำนวน 1,554,444 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่าสำหรับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 1,208 ราย 2.สงขลา 666 ราย 3.สมุทรปราการ 602 ราย 4.ชลบุรี 601 ราย 5.นราธิวาส 501 ราย 6.ยะลา 446 ราย 7.ระยอง 379 ราย 8.ปราจีนบุรี 313 ราย 9.ปัตตานี 309 ราย 10.นครศรีธรรมราช 259 ราย ส่วน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กราฟแสดงอัตราการติดเชื้อยังเชิดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่นี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,922 ราย คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าในพื้นที่อื่นๆ ยังเกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อเพิ่ม โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งพบคลัสเตอร์ในโรงงานที่ จ.จันทบุรี ชลบุรี และตราด นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์แรงงานไทยที่กลับจากการไปทำงานเก็บผลไม้ในประเทศสวีเดน และมีคลัสเตอร์แรงงานต่างด้าวมารับจ้างเก็บลำไยที่ จ.จันทบุรี อีกทั้งพบคลัสเตอร์ในอู่ซ่อมรถที่ จ.จันทบุรี และมีคลัสเตอร์ในโรงไฟฟ้าที่ จ.ชลบุรี ขณะที่ จ.ระยอง พบคลัสเตอร์แพปลาและคลัสเตอร์ค่ายทหาร ทำให้ภาคตะวันออกมีอัตราการติดเชื้อสูง

นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์แพปลาที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพบคลัสเตอร์วงเหล้าในงานเลี้ยงสังสรรค์ฉลองวันเกิด จ.สระแก้ว รวมถึงมีคลัสเตอร์ในงานศพที่ จ.สุรินทร์ จันทบุรี ตราด อุดรธานี อุบลราชธานี และปัตตานี อีกทั้งพบคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ที่ จ.กาญจนบุรี จันทบุรี ระยอง และสมุทรปราการ รวมถึงพบคลัสเตอร์ในโรงเรียน ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วย

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันไม่เป็นความจริงกรณีมีกระแสข่าว สาเหตุที่โควิด ระบาดในพื้นที่ภาคใต้เนื่องจากจัดส่งวัคซีนลงไปในพื้นที่น้อย เพราะตามแผน ศบค.ให้จัดส่ง 1,495,400 โด๊ส แต่กรมควบคุมโรคส่ง 2,085,668 โด๊ส มากกว่าแผนที่กำหนด 5 แสนโด๊ส เช่น จังหวัดสงขลา จัดส่งทั้งสิ้น 956,190 โด๊ส ฉีดแล้ว 1,017,532 โด๊ส ปัตตานี ส่งไป 366,018 โด๊ส ฉีดแล้ว 405,259 โด๊ส, ยะลา 335,030 โด๊ส ฉีดแล้ว 398,886 โด๊ส และ นราธิวาส ส่งไป 428,430 โด๊ส ฉีดแล้ว 434,345 โด๊ส

“ถ้าบอกว่าส่งไปน้อยคงไม่ถูกต้อง แต่ถ้าบอกว่าต้องได้ฉีดทุกคนตามแผนคือสิ้นปี รวมถึงอัตราการฉีดจริงตอนนี้ถือว่าเกินเป้า โดยฉีดได้ 2,256,022 โด๊ส ซึ่งส่วนที่เกินมานั้นเพราะเขามีการฉีดซิโนฟาร์มด้วย ถือว่าเยอะกว่าหลายจังหวัด ส่งให้เกินเป้า ไม่ได้ขาด ยืนยันตัวเลขชัดเจน” นพ.โอภาส กล่าว.