สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า นางเคธลีน ฮิกส์ รมช.กลาโหมสหรัฐ กล่าวกับนักข่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันเห็นความร่วมมือเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น ระหว่างจีนกับรัสเซีย ในอาร์กติก โดยจีนเป็นผู้ให้เงินทุนหลักของการแสวงหาผลประโยชน์ทางพลังงานของรัสเซีย ในภูมิภาคนี้ รวมถึงความร่วมมือทางทหารที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศ ดำเนินการฝึกซ้อมร่วม นอกชายฝั่งอะแลสกา
“ความท้าทายเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และน้ำแข็งบางลง ส่งผลให้กิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้” ฮิกส์ กล่าวเพิ่มเติม
The US will expand its military readiness and surveillance in the Arctic given heightened Chinese and Russian interest coupled with new risks brought on by accelerating climate change. https://t.co/GA77gIW6x4
— Bloomberg Economics (@economics) July 22, 2024
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์อาร์กติกปี 2567 ของสหรัฐ อธิบายว่า อาร์กติกเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐ ซึ่งรวมถึง “แนวทางตอนเหนือสู่มาตุภูมิ” และ “โครงสร้างพื้นฐานด้านการป้องกันที่สำคัญของสหรัฐ”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัสเซียเสริมกำลังทหารในอาร์กติก ด้วยการเปิดและปรับปรุงฐานทัพและสนามบินหลายแห่งที่ถูกทิ้งร้าง นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคโซเวียต ขณะที่จีน ทุ่มเงินมหาศาลไปกับการสำรวจและการวิจัยขั้วโลก ซึ่งน้ำแข็งแถบขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ไม่เอื้ออำนวยแห่งนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศต่างจับจ้องแหล่งน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุแห่งใหม่ ตลอดจนเส้นทางเดินเรือในพื้นที่
“ภูมิภาคอาร์กติก อาจประสบกับฤดูร้อนที่แทบไม่มีน้ำแข็งเป็นครั้งแรก ภายในปี 2573 และการสูญเสียน้ำแข็งในทะเล จะทำให้เส้นทางการเดินเรือในอาร์กติกมีความเป็นไปได้มากขึ้น และเข้าถึงทรัพยากรใต้ทะเล อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์ที่มากขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ การคำนวณผิดพลาด และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งกองกำลังสหรัฐ ต้องมีความพร้อมในการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่อาจเกิดขึ้นในอาร์กติก” ยุทธศาสตร์อาร์กติก ระบุเสริม.
เครดิตภาพ : AFP