เมื่อวันที่ 16 ต.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และการเฝ้าระวังผลกระทบน้ำทะเลหนุน ว่า กรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีการระบายน้ำที่จะไหลผ่านลงมาพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่ อ.บางไทร ตรวจวัดปริมาณน้ำเช้านี้ไหลผ่าน กทม. เฉลี่ย 2,646 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 1.92 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม.อยู่ประมาณ 1.08 ม. จึงยังไม่ได้ผลกระทบจากน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากน้ำขึ้นเต็มที่แต่อย่างใด

สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +1.22 (ระดับวิกฤติ +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.69 (ระดับวิกฤติ +0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.36 (ระดับวิกฤติ +0.60) โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 17.11 น. ที่ระดับ +1.17 ม.รทก.  อย่างไรก็ตาม กทม.มีการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่หน่วย BEST สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะมีน้ำเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งให้สำนักงานเขตลงพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน โดยแจกยารักษาโรค อาหาร และเข้ารับฟังปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงตรวจสอบสภาพพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้น เพื่อหาแนวทางระบายน้ำที่ท่วมขังออกให้เร็วที่สุด 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การไหลของน้ำเหนือที่ไหลผ่านเจ้าพระยาหลากและน้ำทะเลที่ขึ้นหนุนสูงได้ไหลลงอ่าวไทยได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น กทม.ได้ประสานงานกองทัพเรือขอสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 12 ลำ ติดตั้งในคลองลัดโพธิ์ โดยเรือผลักดันน้ำเรือ 1 ลำ มีประสิทธิภาพระบายน้ำ 100,000 ลบ.ม./วัน มีประสิทธิภาพระบายน้ำได้ 1,200,000 ลบ.ม./วัน โดยหากมีฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ทางกองทัพเรือก็จะสนับสนุนเรือผลักดันน้ำติดตั้งเพิ่มเติม โดยประสานงานร่วมกันระหว่าง กทม. กรมอุทกศาสตร์ และกรมชลประทาน ในการติดตามสถานการณ์น้ำขึ้น น้ำลง และการเดินเครื่องเรือผลักดันน้ำให้สัมพันธ์กับการเปิดปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จนกว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย

ส่วนการบริหารจัดการน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ กทม.ได้ช่วยระบายน้ำในแนวคลองหกวาสายล่าง โดยดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ ประตูระบายน้ำคลองสามวา และประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ (ตอนหนองใหญ่) เพื่อช่วยระบายน้ำจาก จ.ปทุมธานี ผ่านเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำhttps://dds.bangkok.go.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ นายศักดา นิติพัฒนะศักดิ์ ผู้ช่วย ผอ.เขตคลองสามวา เปิดเผยว่า ในพื้นที่เขตคลองสามวา รองรับน้ำที่ไหลผ่านมาจากคลองหกวาสายล่าง ซึ่งเป็นคลองที่ต่อเนื่องมาจาก จ.ปทุมธานี โดยมีประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ (ตอนหนองใหญ่) กั้นอยู่ ปัจจุบันมีการเปิดประตูน้ำดังกล่าวเพื่อช่วยระบายน้ำจาก จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันออกลงสู่อ่าวไทยซึ่งจะต้องผ่าน กทม.ในหลายเขต โดยนายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผอ.เขตคลองสามวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขต เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการระบายน้ำเข้าพื้นที่เขตคลองสามวา(ประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ ประตูระบายน้ำคลองลำแบน) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ พบว่า ระดับน้ำในคลองยังคงอยู่เสมอตลิ่ง หากไม่มีการระบายน้ำมากกว่าปัจจุบันและไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม น้ำในคลองก็จะยังไม่เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมคลอง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานเขตคลองสามวาได้เตรียมรับมือการระบายน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมกับสำนักระบายน้ำ กทม. จัดเก็บผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล ในคลองสายหลัก ส่วนคลองย่อยในพื้นที่กว่า 70 คลอง ฝ่ายโยธา ก็ได้ดำเนินการขุดลอกคูคลอง จัดเก็บผักตบชวาและสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดทางให้น้ำไหลได้สะดวก ดำเนินการติดตั้งและตรวจสอบเครื่องสูบน้ำให้ใช้งานได้ ในพื้นที่เสี่ยงจุดอ่อนน้ำท่วม จำนวน 8 จุด ได้แก่ ถนนพระยาสุเรนทร์ 40 / ถนนพระยาสุเรนทร์ 2, 4, 5 / ถนนเลียบคลองสอง 18 / ถนนเลียบคลองสอง 19 / ถนนพระยาสุเรนทร์ 28 (หมู่บ้านทหารกองหนุน) / ถนนเจริญพัฒนา 4 (หมู่บ้านเจริญทรัพย์) / ถนนหทัยราษฎร์ 8 (หมู่บ้านหทัยราษฎร์) และถนนคู้บอน 44 (หมู่บ้านชลธี)

นายศักดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมได้ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนที่อยู่ริมคลองเพื่อทำความเข้าใจถึงระดับน้ำที่สูงขึ้นในระยะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีบ้านอยู่ริมคลอง รวมทั้งมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้วย