จากกรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวว่า ประเทศไทยส่งออกถุงมือยางที่ใช้แล้วไปยังสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลระบุว่า เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับแก๊งอุ้มรีดชาวไต้หวันในพื้นที่ของ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ สั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สืบสวนสอบสวนเอกชน ภายใน 1 เดือน หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินคดี พร้อมกำชับทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหนักสุด ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้วนั้น

แจงปมสื่อนอกแฉถุงมือยางไทยไร้มาตรฐาน ตร.จับบริษัทที่ระบุไปแล้ว
ตะลึง! บริษัทไทยส่งถุงมือใช้แล้ว ย้อมแมวขายให้สหรัฐ

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้จัดให้มีคณะทำงานตรวจสอบการนำเข้าส่งออกถุงมือยาง ทาง ตร. เป็นหนึ่งในกรรมการ ตนมอบให้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เป็นผู้แทนดำเนินการ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับแก๊งอุ้มรีดชาวไต้หวัน ตนได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. ให้รีบตรวจสอบและรายงานให้ตนทราบ อะไรที่ชี้แจงได้ให้รีบแถลงไปก่อน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า จะเป็นข่าวของ CNN หรือข่าวอะไร ก็ไม่มีผล เราก็ทำตามหน้าที่ไป ให้เป็นธรรม ถูกต้อง รวดเร็ว ตอบสังคมได้ ไม่จำเป็นต้อง CNN จะสำนักข่าวไหนถามก็ต้องเหมือนกันว่าเราทำถูกต้อง โปร่งใส ดำเนินคดีครบถ้วนหรือยัง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยคำสั่งคณะทำงานที่นายกฯตั้งขึ้นมามีหลายหน่วยงาน ตนมอบให้สอบสวนกลางซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทั่วประเทศ เพราะอาจจะมีประเด็นปลีกย่อยอื่นๆอีก ก็ต้องเอาทั้งหมด

วันเดียวกันที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. กล่าวว่า ทั้งสองคดีมีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันจริง ซึ่งในคดีมีผู้ต้องหารวม 23 คน โดยพนักงานสอบสวนมีการส่งสำนวนให้อัยการตรวจสำนวนแล้วเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่อัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ คดีนี้เป็นการกระทำผิดบางส่วนเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร จึงต้องส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการพิจารณาตีความ และพยานที่สอบปากคำนั้นเป็นการสอบสวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้น้ำหนักไม่เพียงพอ พนักงานสอบสวนจึงต้องเชิญพยานมาสอบปากคำด้วยตัวเองในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนจะสรุปสำนวนทั้งหมดส่งอัยการอีกครั้ง

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า ขอชี้แจงว่ากระบวนการดังกล่าว แม้ผู้ต้องหาจะครบกำหนดการฝากขัง และเดินทางกลับประเทศไปแล้ว พนักงานสอบสวนยังมีอำนาจในการสอบสวนและทำสำนวน หากสำนวนสามารถสรุปและสั่งฟ้องได้ ก็จะทำการเรียกตัวผู้ต้องหามาเพื่อทำการส่งฟ้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ผบช.น. ได้มอบหมายให้ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (ผบก.น.5) ตรวจสอบว่า พนักงานสอบสวนมีความบกพร่องในการทำสำนวนหรือไม่.