วานนี้ (24 ต.ค.2564) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐ เปิดเผยเบื้องหลังการนำเข้าถุงมือทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หลังการสืบสวนนานหลายเดือนว่า มีโรงงานในไทยที่หาช่องทางทำกำไรจากการขายถุงมือยางไนไตรเกรดสำหรับใช้ในการแพทย์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการสูงมากในตลาดระหว่างการระบาดของโควิด-19 โดยการนำถุงมือต่ำกว่ามาตรฐานนับล้านชิ้นบรรจุกล่อง แล้วส่งมาขายที่สหรัฐ และอีกหลายประเทศทั่วโลก

ดักลาส สตีน ผู้เชี่ยวชาญการแยกแยะอุปกรณ์การแพทย์ปลอมแปลงและต่ำกว่ามาตรฐาน แสดงความกังวลว่า ถุงมือยางไนไตรคือสินค้าที่อันตรายที่สุดในตอนนี้ เขาบอกซีเอ็นเอ็นว่า กำลังมีสินค้าคุณภาพแย่เข้ามาที่สหรัฐ อีกเป็นจำนวนมาก โดยสินค้าเหล่านี้เป็นถุงมือที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นของมือสองที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก เขาเชื่อว่ามูลค่ารวมของสินค้าปลอมแปลงเหล่านี้นับได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐ แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐสองแห่ง คือสำนักงานศุลกากรและป้องกันพรมแดนสหรัฐ กับคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ ว่าบริษัทได้รับสินค้านำเข้าจากบริษัทแห่งหนึ่งในไทย ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นถุงมือที่เห็นได้ชัดว่ามีการปนเปื้อน กระนั้น บริษัทไทยแห่งนี้ก็ยังคงสามารถส่งถุงมือนับสิบล้านชิ้นเข้ามายังสหรัฐ หลังจากนั้น โดยสินค้าบางชุดเพิ่งมาถึงเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

ถุงมือทางการแพทย์เกือบทั้งหมดผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมียางธรรมชาติจำนวนมากที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงผู้ผลิตเฉพาะกลุ่มที่มีความชำนาญสูง ความต้องการที่สูงเกินกำลังการผลิต ทำให้เกิดช่องว่างของการหาเงินจากบริษัทที่เห็นช่องทางทำกำไร ปลายปีที่แล้ว ทาเร็ค เคียร์สเชน นักธุรกิจจากไมอามี สั่งซื้อถุงมือไทยเป็นมูลค่าราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 66 ล้านบาท จากบริษัทแพดดี้ เดอะ รูม (Paddy The Room) แล้วนำไปขายต่อให้ผู้จำหน่ายรายย่อยในสหรัฐ ปรากฏว่าเขาได้รับการร้องเรียนว่าถุงมือเหล่านั้นมีรอยเปื้อนและสกปรก

เคียร์สเชนต้องคืนเงินให้ลูกค้า นำถุงมือไปทิ้งในหลุมกลบฝัง และแจ้ง FDA ในเดือน ก.พ. 2564 เขาอ้างว่าไม่มีการใช้ถุงมือของเขาในปฏิบัติการทางการแพทย์ แต่ซีเอ็นเอ็นมีข้อมูลว่าผู้ขายรายอื่น ๆ ในสหรัฐ ได้สั่งซื้อถุงมือจาก แพดดี้ เดอะ รูม เกือบ 200 ล้านชิ้นในช่วงที่การระบาดใหญ่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากถุงมือเหล่านั้นมาถึงสหรัฐ

หลุยส์ ซิสคิน ก็เป็นอีกรายที่เจอกรณีสินค้าปลอมแปลง จากแพดดี้ เดอะ รูม บริษัทของเขาสั่งซื้อถุงมือลาเท็กซ์/ไวนิล ผ่านบริษัทคนกลาง ปรากฏว่ามีสินค้าหลายชิ้นมีรอยเปื้อนและเป็นของใช้แล้ว บริษัทแพดดี้ เดอะ รูม ส่งรายงานการตรวจสอบมาให้เขา รับรองว่าของที่ส่งมาเป็นสินค้าคุณภาพสูง แต่ปรากฏว่ารายงานเหล่านั้นเป็นเอกสารที่ปลอมแปลงขึ้น

ขณะเดียวกัน ทางการไทยก็ให้ข้อมูลว่ามีการบุกค้นโรงงานของแพดดี้ เดอะ รูม เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว พบถุงขยะบรรจุถุงมือใช้แล้วจำนวนมาก และมีคนงานกำลงบรรจุถุงมือเก่าเหล่านี้ลงในกล่องใหม่ติดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตถุงมือที่ถูกต้องตามกฎหมายที่มีชื่อเสียงของไทย แต่ทางบริษัทแจ้งว่าไม่เคยทำธุรกิจกับแพดดี้ เดอะ รูม

ทางคณะกรรมการอาหารและยาของไทยแจ้งจับกุมเจ้าของโกดัง แต่ไม่สามารถแจ้งข้อหาผู้เช่าสถานที่ซึ่งเป็นชาวฮ่องกงได้ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม บอกซีเอ็นเอ็นว่า หลังจากนั้นก็มีการบุกค้นและจับกุมโรงงานในลักษณะเดียวกันอีกไม่ต่ำกว่าสิบครั้งในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และยึดของกลางเป็นถุงมือคุณภาพต่ำและของใช้แล้ว นำมาบรรจุในกล่องใหม่ บางแห่งพบคนงานกำลังทำความสะอาดถุงมือและย้อมสีใหม่ด้วยสีผสมอาหาร เธอสงสัยว่าถุงมือส่วนใหญ่มาจากจีนและอินโดนีเซีย โดยส่งมาทางเรือ

สุภัทรา เชื่อว่าเครือข่ายบริษัทอยู่เบื้องหลังกระบวนการปลอมแปลงสินค้าเหล่านี้ในไทย หนึ่งในนั้นคือบริษัท……. ซึ่งมีนายทหารคนหนึ่งของไทยเป็นเจ้าของ บริษัทนี้มีใบอนุญาตนำเข้าถุงมือทางการแพทย์ที่ผลิตในเวียดนาม แต่ไม่เคยมีบันทึกว่าบริษัทเคยนำเข้าถุงมือมายังประเทศไทยและไม่ปรากฏว่าเคยผลิตถุงมือเอง

คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับมือกรณีนำเข้าถุงมือเหล่านี้ เนื่องจากสหรัฐ ระงับการบังคับใช้ระเบียบการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ชั่วคราว จึงขาดความเข้มงวดในการตรวจสอบ ทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่แนวหน้าและผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ทางการก็กำลังดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อค้นหาและหยุดยั้งการขายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองเหล่านี้ โดยยกระดับการสืบสวนและตรวจสอบสินค้าทางการแพทย์ ทั้งที่ผ่านชายแดนเข้ามาและที่วางขายในประเทศสหรัฐ

แหล่งข่าวอ้างอิง

https://edition.cnn.com/2021/10/24/health/medical-gloves-us-thailand-investigation-cmd-intl/index.html

เครดิตภาพ : Getty Images