การป่วยไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เป็นหวัดระหว่างเดินทาง ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่และอาจไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักจนต้องตัดสินใจยกเลิกการเดินทาง แต่ใครจะรู้ว่าอาการป่วยที่ดูเหมือนไม่สำคัญอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเราได้มากกว่าที่คิดระหว่างโดยสารเครื่องบิน

กัปตันเจมส์ การ์เซีย  นักบินผู้เชี่ยวชาญและนักสร้างคอนเทนต์ยอดนิยมบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก อธิบายว่า การเดินทางในขณะที่ป่วยเป็นหวัดอาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าแค่มีโอกาสแพร่เชื้อโรคไปยังผู้คนที่นั่งข้างๆ 

อันตรายที่ว่านี้มีความเกี่ยวข้องอย่างมากับการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศในห้องโดยสาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสาทหูของคุณ

“ถ้าผมเป็นหวัด ท่อยูสเตเชียน (ท่อปรับแรงดันหู เป็นท่อคู่ที่เชื่อมหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก) จะอักเสบ ท่อเหล่านี้ก็จะไม่สามารถปรับความดันในหูให้เท่ากันได้ และนั่นทำให้คุณรู้สึกเจ็บหู” เขาอธิบายระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว “ทำให้หูบาดเจ็บจากแรงดันอากาศ”

อาการบาดเจ็บภายในหูที่เกิดจากแรงดันอากาศหรือ Barotrauma นี้คือภาวะที่ทำให้เกิดความรู้สึก ‘อุดตัน’ และเจ็บปวดในหูขณะโดยสารเครื่องบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเครื่องบินกำลังขึ้นหรือลงจากรันเวย์ สาเหตุก็คือแรงดันระหว่างหูชั้นกลางกับแรงดันด้านนอกหูไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ คือ ปวดหู, รู้สึกคล้ายมีบางอย่างอัดแน่นในหู, รู้สึกอึดอัด

คนส่วนใหญ่จะมีอาการบาดเจ็บจากแรงดันอากาศเพียงเล็กน้อย ซึ่งหายได้เอง แต่ในกรณีที่รุนแรงกว่านั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้ามีอาการคัดจมูกเนื่องจากเป็นหวัดอยู่แล้ว

“หากอาการรุนแรงมากและคุณมีอาการคัดจมูกมาก แก้วหูอาจแตกได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง” กัปตันการ์เซียกล่าวเสริม

ภาวะแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บจากแรงกดดันจากหูชั้นกลางอย่างรุนแรงนั้นไม่ใช่เรื่องดีเลย และอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ แก้วหูทะลุ (แก้วหูแตก) และอาจสูญเสียการได้ยิน กัปตันการ์เซียได้แนะนำวิธีแก้ไขแบบง่าย ๆ ที่ใช้กันมานานว่า

“พกสิ่งที่ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกติดตัว เคี้ยวหมากฝรั่ง และออกกำลังกายเพื่อปรับให้แรงดันในหูเท่ากัน” 

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : Orna from Pixabay