เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 มี.ค. 68 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในการปรึกษาหารือ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ที่จะให้เวลาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมาปรึกษาหารือตามข้อบังคับคนละ 3 นาที นั้น นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายหารือต่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม อภิปรายถึงปัญหาการก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชีและลำน้ำพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่สร้างปัญหาและความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง ด้วยงบประมาณของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 545 ล้านบาท รวม 8 โครงการ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว ผู้รับจ้างที่รับงานก่อสร้างถูกกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ประกาศขึ้นแบล็กลิสต์ เวียนห้างเป็นผู้รับเหมาทิ้งงานตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ปี​ 68 การอภิปรายได้มีการนำเสนอภาพให้เห็นถึงสภาพปัญหาความเสียหายในพื้นที่และสภาพอุบัติเหตุและความเจ็บปวดใจของพี่น้องประชาชนมาประจานกลางสภา

“การอภิปราย สส.วิรัช ได้อภิปราย โดยสรุปภาพรวมว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่คาใจคนกาฬสินธุ์ คือเราได้รับงบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง มาทั้งหมด 540 กว่าล้านบาท ในการทำ 8 โครงการ เพื่อป้องกันตลิ่งและระบายน้ำท่วม โดยเฉพาะในเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จนถูกพี่น้องประชาชนระบุว่าเป็นถนนอัปยศ 7 ชั่วโคตร ตั้งแต่ปี 62 การก่อสร้างไม่เสร็จสักโครงการเดียว วันนี้อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ท่าน สส.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบ รวมถึงสื่อมวลชน นสพ. ก็มีการประโคมข่าวนานเป็นปี แต่ขณะนี้กลับถูกผู้รับเหมาหรือใครก็ไม่รู้แจ้งความดำเนินคดีหมด ผมไม่ต้องการให้ทำแบบนี้ ผมต้องการให้ปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา จากปี 62-68 ก่อสร้างไม่เสร็จ ยังเกิดอุบัติเหตุจากปัญหาการก่อสร้างท่อระบายน้ำ ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ การก่อสร้างเพื่อระบายน้ำกลับกลายเป็นการทำให้น้ำท่วมและเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกวัน อย่าปิดฟ้าด้วยตัวเองเลยครับ การปิดฟ้าด้วยฝ่ามือนั้นทำไม่ได้ครับ และ สส. ไม่ใช่หมา ที่จะเห่าหอน แต่เห่ามา 7-8 ปี ก็ยังทำไม่เสร็จต้อง ขอให้ ท่านพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน นำเรื่องนี้ไปแก้ปัญหาด้วยครับ”

สส.วิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาการก่อสร้างท่อระบายน้ำและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชีและลำน้ำพาน จ.กาฬสินธุ์ ได้รับงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 62-65 เงินงบประมาณกว่า 545 ล้านบาท จำนวน 8 โครงการ เป็นการอนุมัติที่ละโครงการ ซึ่งก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว ผู้รับจ้างยังได้รับสิทธิใช้มาตรการช่วยเหลือ ตาม ว. 1459 ปัจจุบันทุกโครงการยังสร้างปัญหาผลกระทบให้กับประชาชน จนเกิดกระบวนการร้องเรียน โดย ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เครือข่าย ป.ป.ท. รวมไปถึงพ่อค้าประชาชนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างตั้งแต่ปี 62 สื่อทุกสำนักมีการนำเสนอข่าวต่อเนื่องยาวนาน และมี สตง.-ป.ป.ท.-ป.ป.ช.-กมธ.ป.ป.ช. เข้าติดตามตรวจสอบในช่วงปี 66 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ในช่วงเดือน พ.ค. ปี 67 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ยกเลิกสัญญาพร้อมขึ้นแบล็กลิสต์กับผู้รับจ้างทั้ง 8 โครงการ และในช่วงปลายเดือน ก.พ. ปี 68 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ประกาศให้ 2 ผู้รับจ้างที่ก่อสร้างโครงการนี้ เป็นผู้รับจ้างทิ้งงานถูกแบล็กลิสต์หมดสิทธิเข้าทำงานกับภาครัฐไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนที่องค์กรอิสระทำการตรวจสอบเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายคืนทั้งหมด

“แต่สิ่งที่ตนต้องการอภิปรายจริงๆ มีเยอะกว่านี้ แต่เมื่อการหารือให้เวลา 3 นาที ก็พูดได้เท่านี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สภาพปัจจุบัน โครงการก่อสร้างดังกล่าว ปัญหาที่เกิดไม่เพียงกระทบต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แต่โครงการนี้ได้สร้างความแตกแยกในเชิงสังคม เพราะมีความพยายามที่จะปิดบังปัญหาสารพัด พระ ชาวบ้าน ผู้ร้องเรียน ผู้นำชุมชน ถูกข่มขู่ และล่าสุดพบว่า การทำหน้าที่ของ สส.ฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สื่อมวลชนท้องถิ่นที่นำเสนอข่าว ก็ยังถูกผู้รับจ้างให้ทนายไปแจ้งความว่าหมิ่นประมาทอีก ทั้งนี้ ยังรวมถึงข้าราชการบางคนที่ทำตัวเอนเอียงไม่เป็นธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่ปกติที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ขอย้ำว่าทุกวันนี้ประชาชนอยู่ด้วยความหวาดระแวง มีการใช้อำนาจแฝงไปคุกคามประชาชนอย่างน่าตกใจ” สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าว

สส.วิรัช กล่าวต่อว่า สิ่งที่คาดหวังจากการหารือ จึงเป็นการร้องขอให้ผู้บริหารระดับสูง รัฐบาล และสังคมไทย หันมามองปัญหาของคนกาฬสินธุ์ ให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเร่งแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ส่วนตัวหวังเพียงว่างบประมาณที่ก่อสร้าง ควรจะสร้างประโยชน์ให้กับชาวกาฬสินธุ์ เพราะโครงการทั้ง 8 โครงการนี้ ถือเป็นโครงการที่ดี เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบให้กับชาวกาฬสินธุ์ ไม่ต้องหวาดกลัวจากภัยน้ำท่วม เพราะกว่าจะได้รับงบประมาณมานั้นแสนจะยากลำบาก อีกทั้ง จ.กาฬสินธุ์ เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง ดังนั้นหากการก่อสร้างเสร็จจะมีคุณประโยชน์ให้กับคนกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง งบ 148,200,000 บาท หากก่อสร้างเสร็จ จะทำให้น้ำไม่ท่วมเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ประชาชนก็จะมีความสุข อีกทั้งในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 1,141 ม. งบ 95,423,000 บาท, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 853 เมตร งบ 39,540,000 บาท, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 937 ม. งบ 59,350,000 บาท, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน หลังเทศบาลตำบลลำพาน บ้านวังยูง อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 562 ม. งบ 59,306,000 บาท ที่ยังรวมไปถึงในอีก 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย มีจำนวน 3 โครงการ ที่ก่อสร้างไม่เสร็จ ฝ่ายบริหารก็ควรที่จะเรียกเอาเงินภาษีของประชาชนกลับคืนมาตามความเป็นจริง พร้อมกับเร่งให้เกิดการก่อสร้างที่จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไป

รายงานแจ้งว่า ภายหลังการหารือของ สส.วิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย ทำให้เพื่อน สส. ในสภา ได้เดินมาให้กำลังใจและเข้ามาสอบถามปัญหาการตรวจสอบการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ที่ส่วนใหญ่รับรู้จากการนำเสนอข่าว จนพูดกันติดปากว่า ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร เนื่องจากปัญหานี้ สื่อมวลชนทุกสำนักทั้ง นสพ.-เว็บไซต์-โทรทัศน์ ให้ความสนใจเกาะติดมีการรายงานข่าวรายวันและสกู๊ปข่าวความเคลื่อนไหวต่อเนื่องนานเกือบ 2 ปี

ด้านแหล่งข่าวระบุว่า ปัญหาที่คาใจคนกาฬสินธุ์ที่ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้บริหารจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังมีท่าทีนิ่งเฉยเหมือนไม่สนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ปรากฏคลิปในการประชุมว่า ผู้รับเหมาคนบ้านเดียวกัน จนเป็นที่ฮือฮา ที่อ้างว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของจังหวัด เนื่องจากเป็นงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่งบบริหารงานของทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ในทางกลับกัน ทำให้ชาวบ้านมองว่าผู้บริหารจังหวัด ควรจะมีหน้าที่ทำงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ทำให้สภาพพื้นที่ในยุคนี้ตลอด 2 ปี จึงปรากฏเสาเข็มและเศษกองหิน รวมถึงถนนที่ถูกเปิดเป็นบ่อน้ำขังตามจุดก่อสร้างหลายแห่ง เสมือนเป็นบ่อมรณะทำให้เกิดอุบัติเหตุ และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนเนื่องจากความสกปรกของเชื้อโรคสารพัด.