สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ว่า “กล่องเด็ก” หรือ “ตู้รับเด็กทารก” ถูกนำมาใช้ทั่วโลกนานหลายศตวรรษ โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการทอดทิ้ง หรือการทารุณกรรมเด็ก

ขณะนี้ ผู้ที่ไม่ต้องการเลี้ยงดูเด็กทารก มีโอกาสสุดท้ายในการนำทารกที่มีอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์ มาวางไว้ในตะกร้าของห้องเงียบสงัด และมีทางเข้าส่วนตัว ที่โรงพยาบาลซานิกุไก ในกรุงโตเกียว

กล่องรับเด็กซึ่งให้บริการ 24 ชั่วโมง ถือเป็น “มาตรการฉุกเฉินครั้งสุดท้าย” เพื่อช่วยชีวิตทารก เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กทารกถูกทิ้งไว้ตามตู้เก็บสัมภาระ สวนสาธารณะ หรือชายหาด

เมื่อเดือน​ พ.ค. ปีที่แล้ว มีรายงานว่า มีผู้นำทารกแรกเกิดและเด็กวัยเตาะแตะถึง 179 คน มาทิ้งไว้ที่ช่องทางทิ้งเด็กแรกเกิด ของโรงพยาบาลจิเกอิ ซึ่งให้บริการกล่องรับเด็กในภูมิภาคคุมาโมโตะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการส่วนนี้มาตั้งแต่ปี 2550

ที่โรงพยาบาลซานิกุไก หากทารกถูกใส่ลงในตะกร้า เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวจะแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ทันทีว่า ทารกจะถูกส่งไปที่ใด และเจ้าหน้าที่จะรีบลงไปที่ชั้นล่าง เมื่อยืนยันความปลอดภัยของทารกได้แล้ว โรงพยาบาลจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อีกหลายภาคส่วน เพื่อตัดสินใจในขั้นตอนต่อไป ซึ่งรวมถึงการจัดหาผู้ประสงค์รับเด็กเป็นลูกบุญธรรม หรือนำส่งไปยังสถานรับเลี้ยงเด็ก

นอกจากนั้น พวกเขายังดำเนินการ เพื่อหยุดยั้งการแอบคลอดบุตรด้วยตนเองอย่างละเลย ด้วยการอนุญาตให้สตรีสามารถคลอดบุตรในโรงพยาบาลได้ โดยเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้น้อยที่สุด.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES