เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ผมอยากอธิบายง่ายๆทำไมการตรวจเชิงรุกค้นหาคนที่ยังไม่มีอาการ ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว ATK ไม่ค่อยมีประโยชน์ อาจมีผลเสียตามมามากกว่า

ATK มีความแม่นยำ ความไวและความจำเพาะน้อยกว่าวิธีตรวจหารหัสพันธุกรรม RT-PCR มาก คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อตรวจ ATK ให้ผลเป็นบวก ส่วนใหญ่จะพบช่วงที่มีอาการ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ส่วนน้อยมากๆจะให้ผลเป็นบวก 1 วันก่อนมีอาการ

เพราะฉะนั้นถ้าตรวจ ATK คนที่ไม่มีอาการเลย แล้วให้ผลเป็นบวก โอกาสเป็นบวกปลอมจะมากกว่าบวกจริงเยอะมาก ทั้งนี้ไม่ได้ขึ้นกับชุดตรวจ ATK นั้นจะผ่านการรับรองจากอย.หรือไม่ ตรรกะที่ใช้ชุดตรวจเร็ว ATK มาคัดกรองคนไม่มีอาการอาจไม่ถูกต้อง เช่นคัดกรองเด็กนักเรียนทุกสัปดาห์ ควรนำมาใช้ตรวจเมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการมากกว่า ถ้าพบว่าให้ผลบวก จึงยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR

ผมได้เห็นตัวอย่างของเด็กนักเรียนหลายคนที่ไม่มีอาการในกทม.หลังตรวจ ATK เพื่อคัดกรองให้ผลบวก แต่ตรวจวิธี RT-PCR ให้ผลลบ ยืนยันว่าเป็นผลบวกปลอม แม้จะใช้ชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจากอย.ก็ตาม