ถึงเวลาที่ต้องจับตาอีกหนึ่งคดีร้อนที่เขย่าขวัญตระกูล “ชินวัตร” และมีผลในทางการเมืองด้วยเช่นกัน นั่นคือ กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดนัดหมายวันที่ 22 พ.ค.2568 อ่านคำพิพากษาในคดีที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก คือ “อนุสรณ์ อมรฉัตร” สามี ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีกับพวก รวม 9 คน ยุครัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 ซึ่งเรียกให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าว ราว 35,717 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารวมความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวที่ประมาณ 178,000 ล้านบาท

สำหรับคำสั่งกระทรวงการคลังนี้กำหนดให้ “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชอบค่าเสียหายเฉพาะปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 แต่ไม่ต้องรับผิดในส่วนของปีการผลิต 2554/2555 และปี 2555 เนื่องจากเพิ่งรับตำแหน่ง จึงยังไม่ได้มีพฤติการณ์ประมาทอย่างร้ายแรงที่จะต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางตัดสินเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2564 ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังฉบับนี้ และให้ยกเลิกการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ “ยิ่งลักษณ์” และผู้ร่วมฟ้องอีกคนหนึ่ง โดยศาลฯให้เหตุผลว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีหลักฐานชัดว่า“ยิ่งลักษณ์” สั่งการให้เกิดความเสียหายหรือมีส่วนร่วมโดยตรง แม้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเพียงลำพัง

แต่ต่อมา กระทรวงการคลังเดินหน้ายื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลปกครองสูงสุดให้ชี้ขาดว่าจะยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง หรือจะกลับคำตัดสินแล้วสั่งให้ “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ต้องจ่ายชดใช้ 35,717 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตตรงที่คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 ในคดีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 5 ฤดูกาลผลิตติดต่อกัน (ปีการผลิต 2554/55, ปีการผลิต 2555, ปีการผลิต 2555/56, ปีการผลิต 2555/56 (ครั้งที่ 2) และปีการผลิต 2556/57) ระบุว่าเกิดความเสียหายที่มาจากฝ่ายปฏิบัติ โดย “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ถูกตัดสินว่ามีความผิดแค่ปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว เป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ไม่ได้ระบุว่า “ยิ่งลักษณ์” ต้องชดใช้ค่าเสียหายใดๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาเป็นอย่างไร แต่วิบากกรรมจากคดีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวยังตามหลอกหลอนติดตัวอดีตนายกฯหญิงและบรรดาผู้เกี่ยวข้องต่อไปอีกนาน

เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ประธานพรรคไทยภักดี ในฐานะอดีตสส.พิษณุโลก เจ้าของฉายา “มือปราบโกงจำนำข้าว” ยืนยันว่า ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะเป็นคุณหรือโทษต่อ “ยิ่งลักษณ์” ไม่มีผลใดๆต่อความผิดคดีอาญาที่ศาลฎีกาฯสั่งจำคุกอดีตนายกฯหญิง 5 ปี ดังนั้น “ยิ่งลักษณ์” ต้องกลับมารับโทษอาญา

จึงเป็นอีกหนึ่งคดีที่เป็นชนักปักหลัง ทำให้ “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่ได้กลับมาตุภูมิเร็ววัน ตามคำเอ่ยของพี่ชายสุดที่รัก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ว่า “อยากให้มาแต่มาไม่ได้ เพราะความเหมาะสมมีคำจำกัดความของมัน ยังไม่ใช่เวลานี้”