เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 1 มิ.ย. 68 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ แถลงข่าวเรื่องสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ว่า ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทยครั้งที่ 1 ในวันนี้ หลังเกิดเหตุทหารของไทย และกัมพูชาปะทะกันที่ด่านชายแดนช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งขอเรียนว่าประเทศไทยและกัมพูชา เป็น 2 ประเทศที่มีความใกล้ชิดกันอย่างมากทั้งในระดับรัฐบาล และประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะไม่ทำให้สถานการณ์บานปลาย ถึงขั้นกระทบความสัมพันธ์อันดีต่อ 2 ประเทศ เพราะไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใดทั้งสิ้น การประชุมวันนี้ของไทยก็เพื่อเตรียมความพร้อมของฝั่งไทยเพื่อประชุมร่วมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee)
“เหตุการณ์กระทบกระทั่ง วันที่ 28 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา เวลา 05.45 น. กระทรวงการต่างประเทศ รู้สึกไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าการดำเนินการของฝ่ายไทยเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายใน อย่างเหมาะสมและได้สัดส่วนกับสถานการณ์สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง” รมว.การต่างประเทศ กล่าว

นายมาริษ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ยังคงสงบเรียบร้อย ทุกด่านเปิดปกติ เพราะหลังเกิดเหตุการณ์ก็ได้มีการหารือร่วมกันหลายระดับ โดยตนได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา เพื่อหาทางยุติความตึงเครียด ขณะที่ผู้บัญชาการทหารบกทั้งไทยและกัมพูชา ก็ได้พบกันเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา มีการพูดคุยเพื่อหาทางลดความตึงเครียด นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปร่วมประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น และได้นัดพบนายปลัก สุคน รวมถึงได้คุยกับสมเด็จฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาด้วย โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นว่า จะต้องมีความร่วมมือกันเพื่อลดความตึงเครียดพื้นที่บริเวณชายแดน โดยกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ อีกทั้งเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของ 2 ประเทศยังได้เห็นชอบที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการทหาร เพื่อเกิดความสงบเรียบร้อย มีเสถียรภาพตามแนวชายแดน
รมว.การต่างประเทศ กล่าวต่อว่า เรามีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติ ไม่มีความขัดแย้ง โดยดำเนินการผ่านกลไก 3 ระดับที่มีอยู่ระหว่างกันคือ 1.การประชุมคณะกรรม JBC เป็นกลไกการเจรจาทางด้านการกำหนดเขตแดนซึ่งผู้บัญชาการทหารบกของ 2 ประเทศได้เสนอ 2. คณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย–กัมพูชา (General Border Committee: GBC) ซึ่งการประชุมไปแล้ว ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ตรงนี้ขึ้นและ 3. กรรมการ Rpc
“อย่างที่ผมได้เรียนไปแล้วเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยไม่เกิดเหตุการณ์บานปลายมากไปกว่านี้ จำเป็นที่ประเทศทั้งสองที่จะต้องไม่ดำเนินการใดเพื่อให้เกิดความเครียดขึ้น ต้องใช้ความอดกลั้นในการที่ไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ และให้มีกลไกในการเจรจาในกรอบ JBC ได้ดำเนินการไปโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหานี้ ขณะเดียวกันก็ขอฝากสื่อมวลชนว่าเราจะต้องช่วยกันไม่ทำให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ช่วยกันระวังรักษา ไม่ให้มีการเผยแพร่สิ่งที่ไม่สมควรที่จะไปเปิดเผยเพื่อให้สถานการณ์มันแย่ลงไปกว่านี้” นายมาริษ กล่าว

ด้าน นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลังเหตุปะทะกันระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเสียใจต่อการเสียกำลังพลจากเหตุปะทะกันดังกล่าว ตอนนี้การดำเนินการของไทยเป็นไปเพื่อการรักษาอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน จากการรุกล้ำเข้ามาของกองกำลังทหารติดอาวุธต่างประเทศตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และตามหลักกฎหมายภายในของไทย เป็นการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศและแนวสากล ส่วนที่เราประชุมกันวันนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมร่วม กรรมการ JBC ที่เกิดขึ้นราวๆ 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ หรือกลางเดือน มิ.ย.นี้ โดยมีทางกัมพูชาเป็นฝ่ายจัดการประชุม
เมื่อถามถึง กรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์โพสต์ของสมเด็จฮุน เซนที่ค่อนข้างรุนแรง มีผลทางกฎหมายอะไรหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่มีผลทางกฎหมาย การโพสต์ข้อความสามารถทำได้ แต่เราก็ดูในฝั่งเรา พยายามให้การสื่อสารข้อมูลที่ออกมาทางสื่อสะท้อนความเป็นจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อถามต่อว่า มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้นอย่างไรหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องนี้เกินจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่เป็นเรื่องที่มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ทั้งทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งยังไม่มีการปะทะกัน จึงอย่าเพิ่งไปตรงนั้นเลย เพราะตอนนี้อยู่ในกระบวนการหาทางออก ทางลงที่ดี ซึ่งทางไทยก็พร้อมที่จะเจรจา และพร้อมทุกสถานการณ์
เมื่อถามถามว่า ในส่วนของจุดยืนการเจรจา ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม สอดคล้องกันหรือไม่ในเรื่องของการรักษาสันติภาพ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สอดคล้องกัน เพราะฝ่ายทหารเขาไม่ได้ประสงค์ที่จะมีความรุนแรงใดๆ ทีม Thailand ทั้งทีม ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงอื่นๆ มุ่งไปที่การหาข้อยุติอย่างสันติวิธี.