ทีมนักวิจัยจากสถาบัน Search for Extraterrestrial Intelligence (SETI) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ชี้ว่าฟองอากาศขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายวงแหวนบนผิวน้ำที่พบเห็นได้ในมหาสมุทรทั่วโลก อาจเป็นเบาะแสสำคัญในการสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้ในอนาคต
วงแหวนเหล่านี้คือจากฟองอากาศที่ปลาวาฬหลังค่อมพ่นออกมา โดยมากจะมีขนาดใหญ่มากและลอยอยู่ในน้ำได้นาน
นักวิจัยสันนิษฐานว่า นี่คือพฤติกรรมเชิงปฏิสัมพันธ์จากวาฬถึงมนุษย์ โดยสื่อถึงความเป็นมิตร เมื่อมนุษย์เข้าใกล้ เช่น ว่ายน้ำหรือแล่นเรือผ่านพวกมัน แต่ก็เป็นไปได้ว่า การพ่นฟองอากาศวงแหวนเหล่านี้อาจแสดงถึงความอยากรู้อยากเห็นของพวกวาฬ
ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Mammal Science ระบุว่า ฟองอากาศวงแหวนเหล่านี้ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เป็นพฤติกรรมที่ ‘ตั้งใจทำ’ ของวาฬหลังค่อม
แม้ว่าวาฬจะใช้ฟองอากาศเพื่อล่าปลาหรือดึงดูดคู่มานานแล้ว แต่ในรายงานการศึกษานี้ชี้ว่า พฤติกรรมการพ่นฟองอากาศวงแหวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินหรือการสืบพันธุ์ ดร. เฟรด ชาร์ป ผู้ร่วมเขียนรายงานและนักวิจัยจาก SETI และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า วาฬหลังค่อมมีสังคมที่ซับซ้อน มีการสื่อสารด้วยเสียงที่หลากหลาย และยังมีพฤติกรรมคอยช่วยเหลือสัตว์ชนิดอื่นที่ถูกล่าอีกด้วย
“ตอนนี้ เราพบว่าพวกมันกำลังพ่นฟองอากาศมาหาเราอย่างชัดเจน เพื่อพยายามมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อเล่นสนุก สังเกตปฏิกิริยาของเรา และ/หรือสื่อสารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” ดร. ชาร์ปกล่าว
นักวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมนี้ในวาฬหลังค่อม 11 ตัว จาก 12 กรณีทั่วโลก โดยทุกกรณี วาฬจะเข้าใกล้มนุษย์ที่กำลังเฝ้าดูและพ่นฟองอากาศวงแหวนรวมทั้งหมด 39 วง
การศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ WhaleSETI ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาความฉลาดของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจสัญญาณที่อาจมาจากสิ่งมีชีวิตต่างดาวในอนาคต
ดร. ลอเรนซ์ ดอยล์ นักวิทยาศาสตร์จาก SETI และผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ต้องตั้งสมมติฐานในการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวไว้ก่อนว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะสนใจที่จะติดต่อกับมนุษย์ ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงอยากรู้อยากเห็นของวาฬหลังค่อมด้วยการพ่นฟองอากาศนี้สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าว
โจดี เฟรเดียนี ผู้ร่วมเขียนการศึกษากล่าวเสริมว่า “เราพบวาฬหลังค่อม 12 ตัวจากประชากรวาฬทั่วโลก ซึ่งวาฬส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีการเข้าหาเรือและนักว่ายน้ำโดยสมัครใจ และพ่นฟองอากาศใส่ในระหว่างที่มันแสดงพฤติกรรมของความอยากรู้อยากเห็น”
การค้นพบความหมายของพฤติกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการสื่อสารจากสิ่งมีชีวิตนอกโลกในอนาคต โดยเป็นการช่วยให้เข้าใจได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ จะแสดงออกถึงความอยากรู้อยากเห็นหรือความรู้สึกอื่น ๆ ได้อย่างไร
ที่มา : ladbible.com
เครดิตภาพ : IFLScience