เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการมาร่วมประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้พบกับ Mr. Andreas Schleicher ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD ) ซึ่งได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ (Program for International Student Assessment (PISA) ในปี 2022 ซึ่งตนได้ฝาก Mr. Andreas ในประเด็นดังกล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติได้  โดยในช่วง2ปีของการระบาดของโควิด-19ที่ผ่านมาการเรียนการสอนของนักเรียนกลุ่มอายุ 15 ปี หรือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะต้องเข้ารับการสอบพิซาเรียนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดจึงทำให้เรียนได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในประเด็นนี้ Mr. Andreas เข้าใจและรับทราบสถานการณ์การเรียนออนไลน์เป็นทุกโรงเรียนทั่วโลก ดังนั้น OECD พร้อมที่จะปรับข้อสอบพิซาให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การเรียนของเด็กในช่วงโควิด

ปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การสอบพิซาจะเน้นโจทย์ข้อสอบด้วยการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนในการเรียนการสอนของประเทศไทย ซึ่ง Mr. Andreas ให้คำแนะนำว่าเราจะต้องมีการพัฒนาครูให้ปรับวิธีการเรียนการสอนด้วยการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น โดยตนได้ขอให้ OECD ช่วยแนะนำประเทศที่มีการพัฒนาครูในด้านการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าว เพื่อที่เราจะนำมาเป็นต้นแบบและดำเนินการนำร่องพัฒนาครูในโรงเรียนของประเทศไทย ทั้งนี้แม้ประเทศไทยกำลังปรับการเรียนการสอนด้วยการเรียนในรูปแบบActive Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือทำและได้ใช้กระบวนการคิดก็ตาม แต่ยังปูพรมได้ไม่ทั้งหมด ดังนั้นจึงอยากมีตัวอย่างโรงเรียนนำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบระดับมาตรฐานสากลด้วย