ในช่วงตลอดปีที่ผ่านมาหลายท่านคงได้รับรู้เรื่องของกระแสปลูกไม้ด่างในยุคโควิดที่หลายคนเริ่มมีเวลาอยู่บ้านหากิจกรรมทำในยามว่างหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือการปลูกเลี้ยงต้นไม้ในกลุ่ม ’ไม้ด่าง“ เป็นไม้ประดับสวยงามที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง หลายคนที่ได้ปลูกเลี้ยงก็จะได้ความสุขจากลวดลายและความสวยงามของใบ เมื่อต้นไม้ด่างที่ปลูกเลี้ยงสามารถขยายพันธุ์ได้ เช่นมีหน่อ ตัดมาชำ การนำมาจำหน่ายมีรายได้จากการขายต้นไม้ด่างที่ปลูกเลี้ยงเอาไว้ หลายคนปลูกเลี้ยงจนเห็นโอกาสว่าการปลูกเลี้ยงไม้ด่างเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวเป็นอย่างดี ในปี 64 นับเป็นปีทองของไม้ด่างที่ถือว่าเป็นอาชีพที่สวนกระแสเศรษฐกิจ ในปี 2564

กล้วยด่าง” ช่วงเวลาที่เริ่มนิยมราว ๆ ต้นปี และคึกคักมากในช่วง เมษายน 2564 กล้วยด่าง” นั้นเป็นอีกไม้ด่างที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการซื้อขายกันตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว อย่าง “กล้วยด่างแดงอินโด” และมีกล้วยด่างสายพันธุ์อื่น ๆ อีกจำนวนมากให้ได้เลือกสะสม ไม่ว่าจะเป็น กล้วยด่างฟลอริด้า (Florida) กล้วยหอมด่าง (เช่น คาเวนดิช, ไต้หวัน, แขนทอง เป็นต้น) กล้วยไข่ด่าง กล้วยเล็บมือนางด่าง กล้วยงาช้างด่าง กล้วยน้ำว้าด่าง (เช่น ค่อม, มะลิอ่อง, กาบขาว, ไอศกรีม) กล้วยตานีด่าง กล้วยเทพนมด่าง กล้วยป่าด่าง เป็นต้น ซึ่งทำให้หน่อกล้วยด่างเหล่านี้สามารถนำมาปลูกแล้วขายหน่อได้ตั้งแต่ราคาหลักพันจนถึงหลักหลายแสนบาทเลยทีเดียว

“ฟิโลเดนดรอนด่าง” ไม้ใบที่มีเสน่ห์ มีความหลากหลายมากที่สุดในท้องตลาดอย่างที่เป็นกระแสได้รับความนิยมมากในท้องตลาด เช่น เบอร์เบิ้ลมาร์ค, พาไรโซ่, ก้านส้มด่าง, ไวโอลินด่าง, ก้ามกุ้งด่าง, พิ้งค์ปรินเซส, หูช้างด่าง, โดเมสติคัม, สตรอเบอรี่ เชค, พิณนาคด่าง, จอร์จ บรูโน่, แบล็คคาดินัลด่าง เป็นต้น

“มอนสเตอร่าด่าง” เป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่คนไทยเริ่มหันมาปลูกกันเยอะมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของวิกฤติโควิด โดยต้นมอนสเตอร่านั้นมีมากกว่า 50 สายพันธุ์ แต่ที่ได้รับความนิยม หลัก ๆ ในท้องตลาด จะมีประมาณ 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ “มอนสเตอร่า เดลิซิโอซ่าด่าง” ก็มีหลายชนิดให้เลือกสะสม เช่น มอนฯไทยคอน, มอนฯมิ้น, มอนฯ Yellow Marilyn, มอนฯ Cremebrulee เป็นต้น “มอนสเตอร่าบอร์สิเจียน่าด่าง” อย่างที่นักสะสมเรียกง่าย ๆ ว่า มอนฯ อัลโบ้ (Albo) ที่เป็นมอนฯ เลื้อยด่างขาว ราคาใบละ 4,000-8,000 บาท และอีกตัวคือมอนฯ ออเรีย (Aurea) ที่เป็นมอนฯเลื้อยด่างเหลืองนั่นเอง ราคาใบละ 5,000-10,000 บาท “มอนสเตอร่าอะแดนโซนี่ด่าง” อย่าง พลูฉลุด่าง ที่มีทั้ง ด่างขาว และด่างเหลือง ราคาประมาณใบละ 8,000-12,000 บาท

ซิงโกเนียม” เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย มีความหลากหลายให้เลือกสะสม ขยายพันธุ์ได้ง่ายชนิดหนึ่ง ราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลายหมื่นบาทโดยชื่อการค้าในตลาด เช่น เงินไหลมาด่างขาว, เงินไหลมาด่างเหลือง, โมจิโต, มิ้วคอนเฟติ, เรดสปอร์ตไตรคัลเลอร์, กรีนสเปซ, พิ้งค์สเปซ, พิ้งค์สปอร์ต, พิ้งค์มาเบิ้ล, แพนด้า, สตรอเบอรี่ ไอซ์, ออมชมพูญี่ปุ่น, ทรีคิง เป็นต้น

“อโลคาเซีย” เป็นไม้ด่างที่กระแสมาแรงตั้งแต่ต้นปี โดยที่รู้จักและเรียกชื่อในการซื้อขายกันคือ “บอนกระดาดด่าง” (Alocasiamacrorrhizos (L.) G.Don) ราคาหลักร้อยถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับความสวย ขนาด และความสมบูรณ์ของต้น, “บอนหูช้างด่างขาว” (Acolocasiagageana variegated) เป็นบอนอีกชนิดที่กระแสมาแรงไม่แพ้บอนกระดาด ราคาก็แพงกว่าบอนกระดาดขึ้นไปอีก ราคาเริ่มต้นที่ซื้อขายกัน หลายพันจนถึงหลายแสนบาทเลยทีเดียว สำหรับบอนหูช้างด่างเหลืองแล้วยิ่งเป็น “บอนหูช้างด่างขาว” (Alocasiagageanaalbo variegate) ก็ยิ่งแพงกว่าหูช้างด่างเหลือง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีจำนวนต้นในตลาดที่น้อยกว่านั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนขายได้ราคาหลักล้านมาแล้ว หรือนำรถหรูไปแลกดังที่เป็นข่าวดังมาก่อนหน้านี้ “บอนกระดาดดำด่าง” (Alocasia Black Stem Variegated) เป็นบอนด่างที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่ง นอก จากลายใบด่างที่สวยงาม ก้านมีสีดำเป็นเอกลักษณ์ทำให้ราคาเริ่มต้นซื้อขายกันที่หลักหมื่นเลยทีเดียว “โอกินาวา” (Alocasia Okinawa Silver) เป็นอโลคาเซียด่างอีกตัวหนึ่งนำเข้ามาจากญี่ปุ่น นำมาเพาะขยายจนเป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงนักสะสมไม้ด่างในบ้านเรา

บอนสี” (Caladium) สมญาว่า “ราชินีแห่งไม้ใบ” บอนสีถือว่าเป็นไม้ใบที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีต แม้แต่ในยุคปัจจุบัน บอนสีก็ยังครองใจคนรักต้นไม้อย่างไม่เปลี่ยนแปลงด้วยความงามของใบ สีสันที่หลากหลาย เป็นไม้อีกตัวที่กระแสมาแรงมากช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดซื้อขายคึกคักมาก ราคาเริ่มต้นหลักสิบบาทจนถึงหลายแสนบาทเลยทีเดียว

โคโลคาเซีย” (Colocasia) หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “บอนโคโลคาเซีย” ถือว่าเป็นไม้กระแสแรงมากในช่วงสิ้นปี 64 โดยราคามีให้เลือกซื้อขายกันตั้งแต่หลักร้อยขึ้นไปจนถึงหลักล้านบาท บอนโคโลคาเซียนั้นเป็นพืชที่เลี้ยงง่ายสามารถเลี้ยงแบบดินหรือเลี้ยงแช่น้ำแบบบัวก็ได้ ชอบแดด สามารถให้หน่อได้เร็วหลังปลูกเลี้ยงได้เพียง 3-4 เดือนเท่านั้น มีสายพันธุ์ให้เลือกเลี้ยงและสะสมนับร้อยชนิด นอกจากนี้ยังมีบอนลูกผสมที่ผู้เลี้ยงสามารถผสมดอกได้เองทำให้ตลาดบอนโคโลคาเซียมีการพัฒนาและคึกคักเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดีการปลูก “ไม้ด่าง” นั้น เบื้องต้นคือความสุขในการที่ได้ปลูกเลี้ยงในสิ่งที่เราชื่นชอบหลงใหลในความสวยงามไม้ด่างที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา แต่บางคนก็เห็นโอกาสช่องทางในการต่อยอดสร้างอาชีพสร้างรายได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ยังต้องจับตาดูว่าในปี 2565 ทิศทางของไม้ด่างจะเป็นเช่นไร หรือแค่กระแสเพียงชั่วข้ามคืน.