นางอุบล ทบวัน อายุ 48 ปี เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง บ้านหนองโจด หมู่ 10 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และเกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดล พื้นที่จำนวน 15 ไร่ กล่าวว่า แต่เดิมใช้พื้นที่บริเวณที่นาหลังบ้าน จัดเป็นสวนครัว เน้นเกษตรอินทรีย์ โดยเข้ารับการอบรมเสริมทักษะและองค์ความรู้จากสำนักงานเกษตร มีการพัฒนาต่อยอดเป็นเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกข้าว พืชผักสวนครัว ไม้ผล เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ใช้เวลาประมาณ 7 ปี กิจกรรมในสวนเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเสริมเข้ามาในครัวเรือน ต่อมามีการพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง เป็นศูนย์เครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงต้นแบบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และล่าสุดได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ของกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งมีพิธีเปิดป้ายศูนย์ฯ เป็นทางการในวันนี้

ในส่วนของการเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” กับสำนักงานพัฒนาชุมชนนั้น เนื่องจากตนและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ต.เจ้าท่า มีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยมีว่างรากฐาน มีการรวมกลุ่มกันมาหลายปี จึงมีความพร้อมที่จะกล้าเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ จึงเข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีการจัดพื้นที่เป็นโซนโคก หนอง นา โดยอาศัยน้ำจากคลองไส้ไก่ จาก 3 เดือนที่ร่วมโครงการ เห็นผลสำเร็จเกิดขึ้นในพริบตา โดยสามารถเปลี่ยนจากการทำนาเชิงเดี่ยว มาเป็นแหล่งผลิตภาคการเกษตรที่ครบวงจร เช่น ผลผลิตที่เป็น พริก มะเขือ ปลา นาข้าว ซึ่งสามารถเป็นอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน โดยในอนาคตยังจะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เครือข่ายกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ อีกด้วย

ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เฟสแรก 2,246 แปลง และจะมีแปลงใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 302 แปลง รวม 2,748 แปลง ซึ่งอยู่ในส่วนของการเตรียมการเอามื้อสามัคคี และจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับแปรรูปผลผลิต สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ที่ประสบความสำเร็จนั้น จากการติดตามผลพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และความยากจนให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างยั่งยืน

“ผลสำเร็จที่ติดตามมาจากการดำเนินการโครงการโคกหนองนา  ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มากกว่าแปลงเกษตร การปลุกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะเปิดเสริมด้วยจุดเช็คอิน ร้านกาแฟ ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับชุมชน สามารถสร้างงาน และรายได้ตลอดปี ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ยังได้ระดมสรรพกำลังและบูรณาการกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งในส่วนของการผลิต การแปรรูป การตลาด เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ให้เกิดความมั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยเกษตรปลอดภัย ตามวิสัยทัศน์ของ ผวจ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19”