เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งจัดการประชุมในรูปแบบออนไลน์ โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรการเรียนการสอน และหลักสูตรการฝึกอบรม ของสถานศึกษานำร่อง 8 วิทยาลัย และสถานประกอบการ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใน 7 สาขาอาชีพ ได้แก่ โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานระบบราง, โลจิสติกส์และซัพพลายเชน, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน, อาหารและเกษตร, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์, และแม่พิมพ์ ซึ่งนอกจากปรับปรุงหลักสูตรแล้วจะมีการเติมประสบการณ์ของนักศึกษาในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีวุฒิการศึกษาและทักษะอาชีพที่แท้จริง ทันสมัยตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยมีทั้งหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทั้งนี้หากเรื่องใดที่เรียนมาแล้วก็เปิดให้เทียบโอนหน่วยกิตได้ด้วย

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้สถานศึกษานำร่อง 8 วิทยาลัยที่เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ CVM ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คือ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี นำร่องสาขาโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี นำร่องสาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ นำร่องสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด นำร่องสาขาปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา นำร่องสาขาอาหาร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี นำร่องสาขาเกษตร วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี นำร่องสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม นำร่องสาขาแม่พิมพ์/เครื่องมือทางการแพทย์ จะต้องไปขับเคลื่อนต่อโดยปรับปรุงหลักสูตรของตนเองและขยายผลไปยังวิทยาลัยที่เป็นศูนย์ CVM อีก 17 แห่ง และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ที่เป็น node 17 แห่ง ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 42 สาขาวิชา/สาขางาน

“การเชื่อมโยงหลักสูตรการเรียนการสอน กับ มาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สกศ. กับ สอศ. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ภายใต้ ‘แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562–2565 ’ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2563 และ สอดคล้องกับนโยบายของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ในการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ ซึ่ง สกศ.เปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา” ดร.อำนาจ กล่าว.