เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายภูวกร ศรีเนียน รองประธานมูลนิธิเส้นด้าย ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 รอบนี้เริ่มส่งสัญญาณของปัญหามาตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.65 หรือตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงปีใหม่ หลังจากอาสาเส้นด้ายพื้นที่ต่างๆ ได้รับสายขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วย ที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นหลายร้อยสายในเวลาไม่นาน จากนั้นจึงค่อยๆ น้อยลงในช่วงกลางเดือน ม.ค. เมื่อมีการเปิด Hospitel เพิ่มขึ้น ก่อนจะกลับมารุนแรงอีกครั้งในเดือน ก.พ. โดยมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เกิดปัญหาเข้าไม่ถึงระบบการรักษา ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่รัฐกำลังตัดสินใจที่จะยกเลิกระบบ UCEP และเตรียมจะประกาศให้โควิด-19 ไม่ใช่โรคฉุกเฉินในวันที่ 1 มี.ค.

นายภูวกร กล่าวต่อว่า ซึ่งส่วนตัวมองว่า สาเหตุที่รัฐมีแนวคิดดังกล่าว เพราะมองว่าประชาชนได้รับวัคซีนในจำนวนที่เยอะมากแล้ว กับมองว่าอาการจากสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง จึงให้ประชาชนสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ ในกรณีที่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว ที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้โอมิครอนจะมีอาการไม่รุนแรง และรักษาตัวเองที่บ้าน หรือทำ HI ได้ แต่กลับพว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ เนื่องจากสถานที่ไม่อำนวย จึงต้องการที่จะเข้าสู่ระบบ Hospitel หรือเข้า รพ.สนาม และศูนย์พักคอย หรือ CI เพื่อแยกตัวเองออกจากครอบครัว แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะ รพ.สนาม กับ Hospitel เต็มหมดแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. อีกทั้งศูนย์พักคอย หรือ CI ในชุมชนก็พบว่ายังมีไม่พอเพียง

“จนหลายคนตัดสินใจออกจากบ้านมานอนข้างถนนระหว่างที่รอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ ขณะที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่ถึงแม้จะเลือกรักษาแบบ HI แต่ก็ต้องรอคอยการประสานจากเจ้าหน้าที่หลายวัน จนเกิดความสงสัยว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเคยเผชิญสถานการณ์แบบนี้มาหลายรอบแล้ว แต่เหตุใดการบริหารจัดการจึงยังคงพบปัญหาติดขัดเหมือนเดิม” รองประธานมูลนิธิเส้นด้าย กล่าว

นายภูวกร ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า สิ่งที่รัฐจำเป็นจะต้องทำอย่างเร่งด่วนในเวลานี้ก็คือ 1.รัฐต้องเร่งเปิด รพ.สนาม และ Hospitel เพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับผู้ที่ไม่สามารถทำการรักษาแบบ HI ได้ 2.รัฐจะต้องสั่งการเป็นระดับนโยบายให้แต่ละชุมชนเร่งเปิด CI หรือ ศูนย์พักคอยให้ครอบคลุมทุกชุมชนมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ติดเชื้อทั้งบ้านหรือติดเชื้อยกครอบครัว 3.ควรเร่งจัดหาเพิ่มงบประมาณเพื่อนำมาเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สายด่วน Call Center ให้มากกว่าที่มีอยู่ในตอนนี้ เนื่องจากปัญหาที่พบในเวลานี้ คือ คนที่ต้องการรักษาแบบ HI เมื่อโทรศัพท์ติดต่อเข้าสายด่วนแล้ว ปรากฏไม่สามารถต่อสายได้ หรือติดต่อได้ แต่กว่าจะได้รับการประสานติดต่อกลับก็ต้องคอยนานหลายวัน

“สิ่งที่เป็นห่วงคือ เมื่อมีประชาชนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดได้ จะมีทางไหนให้คนเหล่านี้เดินต่อ เพราะ Hospitel ก็ไม่พอ รพ.สนามก็เข้าไม่ได้ เพราะไม่ใช่กลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง ในขณะที่ CI หรือศูนย์พักคอยในชุมชนก็ไม่มีอีก สุดท้ายก็ไม่ทางให้เดินต่อ จนเกิดภาพผู้ป่วยต้องออกมานอนข้างถนน เพราะไม่อยากให้ครอบครัวมีความเสี่ยงไปด้วย เนื่องจากจะต้องไม่ลืมว่า บางครอบครัวมีสมาชิกที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ เช่น คนท้อง เด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คนแก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และถึงแม้โอมิครอนอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าถูกยื้อเวลาให้รอไปเรื่อยๆ จากเดิมที่เป็นสีเขียวก็อาจจะกลายเป็นสีหลืองได้เช่นกัน เพราะเวลาที่อาการมันเปลี่ยนหรือทรุดนั้น เกิดขึ้นรวดเร็วมาก” รองประธานมูลนิธิเส้นด้าย ระบุ