เมื่อวันที่ 13 มี.ค. พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Porntip Rojanasunan’ ว่า “…ทำไมญาติจึงเข้าถึงข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ตายได้ยาก คงเพราะมีการทำตามวัฒนธรรมดั้งเดิมว่าตำรวจเป็นผู้ส่งศพมาตรวจ เราจึงต้องส่งผลการตรวจให้ตำรวจเท่านั้น น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากหลักสิทธิหรือหลักกฎหมาย ทั้งนี้ ป.วิอาญากำหนดให้แพทย์นิติเวชมีหน้าที่ต้องชันสูตรศพ แต่คงเพราะประเทศที่ระบบชันสูตรศพเป็นระบบตำรวจมีวัฒนธรรมที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้นหาความจริง สหประชาชาติจึงมีข้อกำหนดให้ทั่วโลกควรใช้แนวทางที่ให้เกิดความเป็นธรรมตามพิธีสารมินนิโซตานี้ https://www.cifs.go.th/Files/news//file/879b5e83-6151-46f8-8d18-af49bd03b636.pdf  บทกำหนดเรื่องจริยธรรมของแพทย์นิติเวชชัดเจนว่าต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง ไม่ตกอยู่ใต้แรงกดดันของผู้จ้างหรือตำรวจ หากยึดหลักเช่นนี้การร้องขอเพื่อการชันสูตรศพครั้งที่ 2 จะลดลงประชาชนควรรับทราบสิทธิและหลักการนี้กันด้วย”

นอกจากนี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังได้โพสต์ภาพเอกสารเกี่ยวกับ จริยธรรมทางวิชาชีพ โดยเน้นในข้อ 44 ซึ่งระบุว่า “44. แพทย์นิติเวชที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนกรณีเสียชีวิตที่อาจมิชอบด้วยกฎหมายหรือกรณีสงสัยว่าเป็นการบังคับให้สูญหาย มีความรับผิดชอบต่อความยุติธรรม ต่อญาติของผู้เสียชีวิต และต่อสาธารณชนโดยทั่วไป ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว อย่างถูกต้อง แพทย์นิติเวชรวมถึงนักนิติพยาธิวิทยาจะต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง ทั้งนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะถูกจ้างโดยตำรวจหรือรัฐ แพทย์นิติเวชจะต้องเข้าใจชัดแจ้งถึงพันธกรณีของพวกเขาต่อความยุติธรรม (ไม่ใช่ตำรวจหรือรัฐ) และต่อญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อที่จะสามารถให้คำอธิบายในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตและพฤติการณ์แวดล้อมการเสียชีวิตได้อย่างแท้จริง”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับพิธีสารมินนิโซตา โดยองค์การสหประชาชาติ จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนในกรณีการสังหารนอกกฎหมาย ตามอำเภอใจและโดยการพิจารณาอย่างรวบรัด สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีภารกิจในการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ในคดีต่างๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญของพิธีสารดังกล่าวซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในการตรวจพิสูจน์ จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามพิธีสารมินนิโซตา ค.ศ.2016 ขึ้นเพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติงานสำหรับกรณีที่มีการเสียชีวิตที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังใช้เป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวน ตรวจพิสูจน์ คุ้มครองพยานและดำเนินการกับผู้เสียหาย ผู้เกี่ยวข้องและผู้กระทำผิด.