ในห้วง 20 ปี วิชามารที่ใช้ในการเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก หลักการคือเดินเกมใต้ดิน ดิสเครดิต ข่มขวัญคู่ต่อสู้รวมถึงโกงในคูหาเลือกตั้ง ติดตามรายละเอียดได้ใน ‘ขุนไพร วิเคราะห์การเมือง’

นับถอยหลัง 6 สัปดาห์ จะถึงวันที่ 22 พ.ค. เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภา กทม. 50 เขต หลังจากถูกแช่แข็งนาน 9 ปีเต็ม

ประเด็นที่น่าสนใจคือในห้วง 6 สัปดาห์ ก่อนเปิดคูหากาเบอร์ เริ่มปรากฏข่าววิชามาร “มือมืด” ตระเวนทำลายป้ายหาเสียงทั้งในส่วน ผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภา กทม.


ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์เบอร์ 4 โดนทำลายป้ายหาเสียงที่ตั้งในเขตดอนเมือง ที่ป้ายรถเมล์ ซอยพหลโยธิน 60 ถูกกรีดยกหัวออกไปจากป้ายและเชื่อเรื่องนี้ เชื่อมโยงการเมือง

“เหตุการณ์ทำลายป้ายหาเสียงนั้น ผมมองว่าน่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า เพราะถ้าเป็นการกีดขวางทางสัญจรสามารถร้องเรียนได้ แต่การไปกรีดเอาหัวออกไปแบบนี้มันรุนแรงเกินไป ไม่ควรให้เกิดขึ้นกับใคร ถ้าผมมีโอกาสเมื่อไหร่ คนกรุงเทพฯ คนเดินถนน คนเดินเท้าต้องปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องกล้องวงจรปิด” ดร.เอ้ กล่าว


เช่นเดียวกับ โฆษกพรรคกล้า แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม แถลงข่าว เจอวิชามาร ป้ายผู้สมัครสมาชิกสภา กทม. ถูกคนร้ายทำลาย 3 รูปแบบคือ (1) ป้ายที่เคยติดบนเสาไฟฟ้า ถูกปลดลงมากองกับพื้น มีป้ายพรรคอื่นไปเสียบแทน (2) ป้ายถูกกรีด (3) ป้ายถูกปลดเอาไปทิ้งถังขยะ

“เราเชื่อว่าปัญหานี้เกิดขึ้นหลายพื้นที่ และเกิดขึ้นกับผู้สมัครทุกพรรค หากยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาแบบนี้คงจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นสุดการเลือกตั้ง” โฆษกพรรคกล้า กล่าว

อันที่จริงในห้วง 20 ปี วิชามารที่ใช้ในการเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก หลักการคือเดินเกมใต้ดิน ดิสเครดิต ข่มขวัญคู่ต่อสู้ รวมถึงโกงในคูหาเลือกตั้ง

จากการประมวลผลเคล็ดวิชามารในสนามการเมืองไทย แบ่งออกได้ 5 กระบวนท่า

(1) กระบวนท่าแรก “ทำลายป้ายหาเสียง” ใช้วิธี กรีดหน้า-เจาะตา-ตัดจมูก-เผา-เขียนคำหยาบคาย เพื่อก่อกวนสร้างความปั่นป่วน ทำลายขวัญกำลังใจฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีทั้งปฏิบัติการแบบ ฉายเดี่ยว (Lone Wolf) และทำเป็นขบวนการ

(2) กระบวนท่าที่สอง “ปล่อยข่าวลวง โจมตีใส่ร้าย สร้างข่าวปลอม” (Fake News) ทั้งในรูปแบบแจกใบปลิวและเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนในคูหา ซึ่งในอดีตใช้วิธี จัดทำโพลเทียม (Pseudo Poll) อ้างต้องต้องการสำรวจคะแนนนิยม แต่แฝงให้ข้อมูลใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม


(3) กระบวนท่าที่สาม “ซื้อหัวคะแนนคู่แข่ง” ใช้อิทธิพล เริ่มตั้งแต่เจรจา ข่มขู่ กระทั่งใช้มาตรการรุนแรงขั้นเด็ดขาด เพื่อตัดช่องทางเชื่อมโยง ระหว่างคู่แข่งกับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน

(4) กระบวนท่าที่สี่ “ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ” มีทั้งรูปแบบติดสินบนรายหัว และติดสินบนยกหน่วย เพื่ออำนวยความสะดวกโกงเลือกตั้งในคูหา โดยพื้นที่ กทม. 50 เขต มีหน่วยเลือกตั้ง 6,911 หน่วย แบ่งเป็นอาคาร 2,933 หน่วย และเป็นเต็นท์ 3,978 หน่วย แต่ละหน่วยมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย 13 คน แบ่งเป็น กรรมการประจำหน่วย 9 คน ตำรวจ 2 คน อาสาสมัคร 2 คน ขณะที่จำนวน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ข้อมูลถึงวันที่ 22 พ.ค. 65 มีจำนวน 4,374,131 คน

(5) กระบวนท่าที่ห้า “ใช้อำนาจทางการเมืองหาประโยชน์” อ้างปฏิบัติงาน ลงพื้นที่ทับซ้อนคู่ขนานช่วย ผู้สมัครบางคนหาเสียงทางอ้อม แบบไม่อายฟ้าดิน

ทั้งหมดข้างต้นคือเคล็ดวิชามาร 5 กระบวนท่าที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นวัฏจักรวงจรอุบาทว์การเมืองไทย.

ขุนไพร พิเคราะห์การเมือง