“ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสพูดคุยกับ “แม่บ้านกกต.” แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อเช็คความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งหาคำตอบของทุกคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดย“แม่บ้านกกต.” เปิดฉากกล่าวถึงความพร้อมในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งเมืองพัทยา ว่า ขณะนี้เราพร้อมตามแผนงานหรือไทม์ไลน์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งในภาพรวมยังไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไร การบริหารจัดการเลือกตั้ง ที่กกตกทม.และกกต.จังหวัดชลบุรี รับผิดชอบ ไม่มีอะไรที่น่ากังวลในการทำงาน และมีความเชื่อมั่นในทีมที่ได้มีการเตรียมงานกันมาเป็นอย่างดี ในส่วนของผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ก็ได้ดำเนินการหาเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งในภาพรวมก็เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาจจะมีปัญหาบ้าง ก็มีการเข้าไปตรวจสอบและดูแลแล้ว ส่วนเรื่องร้องเรียนมีการร้องเรียนเข้ามาเพียง 2 เรื่องเท่านั้น โดยเป็นเรื่องการติดป้ายหาเสียง และการให้เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง

@  การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตร 2 ใบกังวลหรือไม่ว่าประชาชนอาจจะสับสน ระหว่างบัตรเลือกตั้งตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4.3 ล้านคน ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ จะมีสิทธิเลือกตั้งทั้ง ผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. อยู่ในเขตเดียวกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่คนละสี โดยสีหนึ่งสำหรับเลือกผู้ว่าฯกทม. และอีกสีหนึ่งสำหรับเลือก ส.ก. และใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเดียวกัน ซึ่งแบบนี้จะไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกประเภท จะมีสิทธิเลือกตั้งทั้ง ผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. แต่ใช้สิทธิเลือกตั้งคนละเขต เนื่องจากมีการย้ายที่อยู่ไปเขตใหม่ แต่ยังอยู่ในพื้นที่ กทม. และระยะเวลาที่อยู่ในเขตใหม่ยังไม่ครบ 1 ปี คนกลุ่มนี้จะมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในเขตใหม่ แต่การเลือก ส.ก.จะต้องกลับไปเลือกที่เขตเดิมที่อยู่ครบ 1 ปีหลังสุด ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มนี้ประมาณ 44,000 คน โดยคนกลุ่มนี้จะต้องแจ้งเพิ่มชื่อในเขตเลือกตั้งเดิม เพื่อขอใช้สิทธิ แต่หากไม่มีการแจ้งเพิ่มชื่อ และไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเดิมก็ไม่ถูกจำกัดสิทธิ 

ทั้งนี้ เวลาไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนกลุ่มนี้จะได้รับบัตรเลือกตั้ง หน่วยละ 1 ใบ โดยกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งคนแรก จะเป็นผู้ตรวจสอบสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากนั้นจะมีการหนีบกระดาษสีเพื่อให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ทำหน้าที่แจกบัตรเลือกตั้งรู้ว่าจะต้องแจกบัตรเลือกตั้งแบบใดแก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยหากหนีบสีน้ำตาลหมายถึงต้องแจกบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่หากหนีบสีชมพูหมายถึงต้องแจกบัตรเลือกตั้ง ส.ก.เท่านั้น

 “กกต.ได้เน้นย้ำกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ดูคนกลุ่มนี้ให้ดี ต้องดูให้ละเอียดว่าผู้มีสิทธิแต่ละคนมีสิทธิได้รับบัตรกี่ใบ และแจกบัตรเลือกตั้งให้ตรงตามสิทธิ เพราะหากจะเกิดความผิดพลาดไปแจกบัตร 2 ใบ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.และส.ก.คนละแห่ง จะทำให้การลงคะแนนและจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกันทันที ทั้งนี้ หากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งแจกบัตรเลือกตั้งผิด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รู้ตัวว่า จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 หน่วยเลือกตั้ง ก็มีสิทธิที่จะทักท้วงได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนศึกษาหนังสือแจ้งเจ้าบ้านว่าตนเองมีสิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งแห่งเดียว หรือต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.คนละแห่ง”

@ การเลือกตั้งในครั้งนี้มีการอุดช่องโหว่จากการถอดบทเรียนการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างไร

จากการถอดบทเรียนการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมา มีการนำมาแก้ไขในการเลือกตั้ง กทม.ในครั้งนี้ คือ เรื่องการแจกบัตร และเรื่องการบริหารจัดการเลือกตั้ง โดย กกต.จะทำใน 9 ชั่วโมงระหว่าง เวลา 08.00-17.00 น. ของการใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปจนถึงการนับคะแนน ตลอดจนการส่งผลคะแนน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เกิดความบกพร่องหรือข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทั้งการแจกบัตรเลือกตั้ง การตรวจเช็คจำนวนบัตรเลือกตั้งกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่ตรงกันต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อนว่าเกิดจากอะไร เมื่อเจอสาเหตุแล้วจึงเริ่มนับคะแนน และต้องนับให้ถูกต้อง ขานบัตรให้ถูกต้อง ตลอดจนการรายงานผลการเลือกตั้งให้ถูกต้อง

รวมทั้งการดูแลประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 เพราะมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 เปลี่ยนไป ปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ เขาสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะมีสิทธิและไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.มีมาตรการในการดูแลคนกลุ่มนี้ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยของคนกลุ่มอื่น โดยกกต. กำลังหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ศบค.กทม. เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ตั้งแต่การเดินทางออกจากบ้านไปหน่วยเลือกตั้ง การใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้ง การลงคะแนนต้องทำอย่างไร ตลอดจนการเดินทางกลับจากหน่วยเลือกตั้ง

@ กรณีผู้สมัครหาเสียงเกินอำนาจหน้าที่ และกรอบงบประมาณ จะมีการดำเนินการอย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายและดุลยพินิจ โดยในส่วนข้อกฎหมายเรื่องที่หาเสียงได้จะต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. ก่อน อาทิ สาธารณสุข ความปลอดภัย โรคระบาด หากการหาเสียงอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ กทม. ก็ถือว่าผ่านขั้นข้อกฎหมาย ส่วนนโยบายหาเสียงจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องมาดูทั้งทางเทคนิคและทางงบประมาณ ส่วนนโยบายการหาเสียงที่จะเข้าขั้นเป็นการหลอกลวงหรือใส่ร้ายได้นั้น ก็จะต้องดูข้อเท็จจริงว่าถึงขนาดเป็นการหลอกลวงหรือใส่ร้ายหรือไม่ หมิ่นเหม่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของดุลยพินิจของผู้ตัดสินว่าอยู่ในฐานะที่จะเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิคและทางงบประมาณหรือไม่ แต่อย่างน้อยต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.ก่อน หากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ กทม. ก็จะถือเป็นการหาเสียงโดยหลอกลวงได้ ส่วนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะต้องใช้ดุลยพินิจในการเลือกตั้ง

@ การเลือกตั้งกทม.ครั้งนี้จะกลายเป็นการหาเสียงล่วงหน้าให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ที่ต้องการเปิดตัวนโยบายมุ่งหวังการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

เรื่องแบบนี้ไปคิดแทนเขาไม่ได้ อะไรที่ กกต.บอกว่าไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งก็สามารถทำได้ แต่จะเป็นการหาเสียงอะไรหรือไม่ คนจะมองว่าเป็นเรื่องอะไร อย่างนั้นอย่างนี้ก็สามารถมองได้.