สายสัมพันธ์เนปาลไทย: พระพุทธศาสนาอันเป็นสายใยผูกพันแน่นแฟ้น

ตามปฏิทินจันทรคติ วันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งตรงกับวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นวันสำคัญยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ประเทศต่าง ๆ มีการเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้ในชื่อที่แตกต่างกัน แต่มีสาระและความสำคัญของวันเหมือนกัน คนไทยเรียกว่าวันวิสาขบูชา ในขณะที่ชาวเนปาลเรียกว่าวันพุทธชยันตี

องค์การสหประชาชาติเรียกวันนี้ ว่า เดย์ ออฟ เวสัข โดยมีการรับรองจากองค์การสหประชาชาติในปี 2542 ว่าเป็น “เดย์ ออฟ เวสัข” การยอมรับดังกล่าวเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจสำหรับพวกเราทุกคน


เนปาลและไทยมีความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน ที่ยาวนานกว่าสองพันปี โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นสื่อกลาง แม้ทั้งสองประเทศเพิ่งมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2502

ปัจจุบันทั้งสองประเทศได้ขยายความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติ ซึ่งรวมถึงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งสองประเทศมีความเหมือนกันหลายประการไม่ว่าในแง่ของวัฒนธรรม ประเพณี และภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาเนปาลและภาษาไทยมีคำศัพท์ที่เหมือนกันหลายคำ ซึ่งล้วนมาจากรากศัพท์ภาษาบาลี/สันสกฤต


คำสอนของพระพุทธโคดมและพุทธปรัชญา เป็นสายใยที่เชื่อมโยงประชาชนของทั้งสองประเทศไว้อย่างแน่นแฟ้น ประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสองประเทศนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก และถือเอาพุทธศาสนา เป็นแหล่งรวมของความคิดที่รู้แจ้งและแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ

ประชาชนของทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกของมิตรภาพกับทุกคน และไม่เป็นปฏิปักษ์กับใคร ประชาชนของทั้งสองประเทศปรารถนาสันติภาพไม่เพียงแต่ที่ประเทศของตน แต่ปรารถนาสันติภาพโลกด้วย


เนปาลนับว่าเป็นประเทศที่โชคดี ที่ในวันพระเพ็ญ เดือน 6 เมื่อประมาณ 2646 ปีที่แล้วพระศากยมุนี โคดม พุทธเจ้า ทรงประสูติ ณ ลุมพินีวัน ในประเทศเนปาล ในวันเดียวกันนั้นเอง 35 ปีต่อมา พระองค์ทรงบรรลุการตรัสรู้ และในที่สุดเมื่อพระชนมายุได้ 80 ปี เมื่อประมาณ 2566 ปีก่อน พระองค์ทรงดัลขันธปรินิพพาน

ดังนั้น ลุมพินีวันจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนาอีกด้วย ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางของผู้จาริกแสวงบุญ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ที่แสวงหาความจริง และความหลุดพ้น


พระพุทธองค์ ทรงได้สั่งสอนความรู้แจ้งในอริยสัจสี่และมรรคมีองค์ 8 ที่ประกอบด้วย ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การงานชอบ ความพยายามชอบ เจรจาชอบ เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบ และ ตั้งจิตมั่นโดยชอบ ซึ่งมีความสำคัญมากในปัจจุบันพอ ๆ กับในอดีต


พระพุทธศาสนาได้มีการเผยแผ่ไปทั่วทวีปเอเชีย และส่วนอื่น ๆ ของโลก พร้อมทั้งการเผยแผ่เรื่องความรู้ และปัญญา เกี่ยวแก่วิถีการการดำรงชีวิต แนวทางแห่งสังคมสมัคคี และการอยู่กันด้วยภราดรภาพสากล


หลักการที่ว่า “จงมีชีวิตอยู่ด้วยความเคารพในชีวิตของผู้อื่น” เป็นหลักการพื้นฐานของพระพุทธศาสนาที่มีส่วนอย่างมากต่อค่านิยมเอเชียในการดูแล แบ่งปัน และการดำเนินการที่ดีเพื่อสังคมส่วนรวม


ภราดรภาพสากลนับว่าเป็นค่านิยมหลักของสังคมเอเชีย “วสุไธยวะ กุตุมพกัม” (โลกทั้งผองคือหนึ่งครอบครัว) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและการแบ่งปัน เป็นหลักธรรมที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน การปฏิบัติตามหลักศีล 5 ไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้มีชีวิตอยู่ด้วยสันติสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจ ความปรองดอง และสันติภาพด้วย

กรุงกบิลพัสดุ์ ประเทศเนปาล (Source: Lumbini Development Trust)


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา และลุมพินีวัน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พระพุทธศาสนาไม่สามารถแยกออกจากพระพุทธเจ้าได้ ทั้งยังไม่สามารถแยกออกจากลุมพินีวันได้เช่นกัน การจะเข้าใจพระพุทธเจ้าได้ดีต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับลุมพินีวันด้วย เพราะฉะนั้น การจาริกไปยังลุมพินีวัน นับเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตสำหรับพุทธศาสนิกชน และผู้ที่ชื่นชอบความยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธศาสนา

รัฐบาลเนปาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาลุมพินีวัน โดยรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาลุมพินีวันให้เป็นเมืองสันติภาพสากลและเป็นที่เคารพสักการะของมวลมนุษยชาติ สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และสำหรับผู้ที่มีความสนใจและศรัทธาในหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้


นอกจากลุมพินีวันแล้ว ประเทศเนปาลยังมีพุทธสถานที่สำคัญอีกสามแห่งทางตอนใต้ของประเทศเนปาล ได้แก่ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงเทวทหะ และรามคามสถูป กบิลพัสดุ์เป็นเมืองชาติภูมิของเข้าชายสิทธัตถะ โคดม และเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรศากยะโบราณ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 29 กม. ทางทิศตะวันตกของลุมพินีวัน กรุงเทวทหะเป็นมาตุภูมิ หรือเมืองของพระนางมหามายาเทวี พระมารดาแห่งพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ห่างจากลุมพินีวันไปทางทิศตะวันออก 57 กม. และรามคามสถูปเป็นสถูปแห่งเดียวที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระศากยมุนีพุทธเจ้าที่หลงเหลืออยู่

รามคามสถูป ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี 2539 เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและการจาริกแสวงบุญ ในบรรดาสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 8 องค์ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า มีสถูปแห่งนี้แห่งเดียวที่ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม ดังนั้นจึงเป็นหนึ่งในสถานที่ผู้จาริกแสวงบุญ ถือกันว่าเป็นสังเวชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับชาวพุทธ และต่างก็ใฝ่ฝันที่จะจาริกไปยังรามคามสถูป อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต


ประเทศเนปาล ในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งในสมาชิกของบิมสเทคหรือกรอบความร่วมมือเหนืออ่าวเบงกอล ประเทศเนปาลได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นสายใยที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นแฟ้น ในการนี้ ประเทศเนปาล ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งและดำเนินการเปิดเส้นทางวงแหวนทางพุทธศาสนาให้ได้ในเร็ววัน โดยเชื่อมโยงกับลุมพินีวันในประเทศเนปาล


อนึ่ง นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับพุทธศาสนกิชนทั่วโลก ที่ทางรัฐบาลเนปาล ได้เริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติที่สร้างขึ้นมาใหม่ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติโคตมพุทธเจ้า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสนามบินอยู่ห่างจากลุมพินีวันไปทางทิศตะวันออก 22 กม. ประเทศเนปาลยินดีให้การต้อนรับสายการบินไทย เพื่อให้บริการเที่ยวบินตรงไปยังสนามบินนานาชาติแห่งใหม่นี้

ความเชื่อมโยงทางอากาศไม่เพียงแต่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางของชาวพุทธไปยังลุมพินีวันเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศอีกด้วย จึงขอเชิญชวนเพื่อนสหธรรมิกชาวไทยจาริกไปยังลุมพินีวันและพุทธสถานอื่น ๆ ในประเทศเนปาล และเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ชีวิตของทุกท่าน.

เลนซ์ซูม

ขอขอบคุณ : สถานเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย