ซึ่งมาตรการควบคุมโรคที่เคย “คุมเข้ม” ก็จะเริ่ม “ผ่อนคลาย” เพิ่มขึ้น และการตัดสินใจ “เปิดประเทศไทยกว้างขึ้น” ก็คาดหวังกันว่าจะกระตุ้นบรรยากาศเศรษฐกิจไทยให้คึกคักขึ้นมาได้ หลังจากคนไทยต้องยกการ์ดสูงมาเกือบ 3 ปี

ก็หวังว่าถึง “ยุคโควิดประจำถิ่น” อะไร ๆ จะดีขึ้น??

อย่างไรก็ตาม จากการที่ “โควิดยังคงกลายพันธุ์อยู่ตลอด” โดยเฉพาะเมื่อมีกระแส  “โควิดสายพันธุ์ใหม่” ที่มีการค้นพบล่าสุดว่า มีโอกาส-มีความเป็นไปได้…ที่จะทำให้เกิดอาการรุนแรงใกล้เคียงสายพันธุ์เดลตา นี่ก็จึงทำให้เกิด “ข้อกังวล” ไม่ใช่น้อย ซึ่งหากโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่รุนแรงมีการระบาดมากเกิดขึ้น กรณีนี้ก็ อาจจะทำให้คนไทยต้องยกการ์ดสูงกันใหม่อีกครั้ง และคนไทยอาจต้องกลับไปใช้ชีวิตภายใต้มาตรการ “ทุบ” ตั้งแต่ยังไม่ถึงยุคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น??…

การที่ไทยจะ “ผ่อนคลาย” หรือ “คุมเข้ม” โควิดนั้น…

จะต้อง “พิจารณาจากปัจจัย-หลักเกณฑ์อย่างไร??”

กรณีนี้ก็มีข้อมูลที่ “น่าจะย้อนพิจารณาเผื่อ ๆ ไว้”…

ทั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มนำรายละเอียดกรณีนี้มาให้ดูกันอีกครั้ง จากข้อมูลจากบทความในเว็บไซต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เผยแพร่ไว้เกี่ยวกับ มาตรการ “ทุบ และคลาย” ที่หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเคยใช้ “รับมือกับโควิด-19” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งกับมาตรการต่าง ๆ ที่หลายประเทศนำมาใช้นั้น มีหนึ่งในแนวคิดที่มักถูกนำมาปรับใช้แพร่หลาย นั่นคือ… แนวคิดของ Tomas Pueyo ที่เรียกว่า มาตรการ ที่ถูกนำมาใช้ป้องกันการระบาด ซึ่งในภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกว่า “The Hammer and The Dance” หรือมาตรการ “ทุบ และคลาย”

กล่าวสำหรับ มาตรการ “ทุบ (The Hammer)” คือ… มาตรการเข้มข้นที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งเน้นที่การ “ปิดเมืองเพื่อหยุดโรค” โดยในแต่ละประเทศก็มีการใช้ที่ต่างกันไปตามความจำเป็นหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีแนวทางสุขอนามัย และการเพิ่มระยะห่างทางกายภาพต่าง ๆ เช่น… การตรวจโรคและตามรอยผู้สัมผัสเชื้อ, การจัดจุดตรวจอุณหภูมิในชุมชน, การจัดกลไกเพิ่มประสิทธิภาพการกักโรคที่บ้าน, การแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค, การปิดสถานที่และงดกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก, การจำกัดการเดินทาง ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ, การห้ามออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด รวมจนถึง… การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล, การสนับสนุนให้เวิร์ก ฟรอม โฮม เป็นต้น

เหล่านี้เป็น “มาตรการทุบ” กับกรณี “โรคโควิด-19”

ที่ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา “คนไทยคุ้นเคยจนท้อ!!”

ขณะที่ในส่วน มาตรการ “คลาย (The Dance)” คือ… คงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่จำเป็นบางส่วนไว้ และเริ่มผ่อนคลายมาตรการบางส่วน เช่น… ช่วงที่ยังปิดสถานบันเทิง การแข่งกีฬา งานประชุม งานกิจกรรมสังคมใหญ่ ๆ แต่ก็เริ่มเปิดสถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็น และผ่อนคลายกรณีอื่น ๆ ที่มั่นใจว่าจะคุมพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคได้ เช่น การขอความร่วมมือให้ออกจากบ้านเมื่อมีกิจกรรมจำเป็นเท่านั้น การขอความร่วมมือให้เดินทางเท่าที่จำเป็น การบังคับใช้หน้ากากอนามัย การกำหนดให้ต้องเว้นระยะห่างในที่สาธารณะ เป็นต้น

นี่เป็น “มาตรการคลาย” กับกรณี “โรคโควิด-19”

ที่ตอนนี้ “ไทยเริ่มคลายเริ่มเปิดเพิ่มเรื่อย ๆ แล้ว”

อย่างไรก็ตาม “ที่ยังต้องจับตา-ที่ยังต้องระวัง” นั้น ในบทวิเคราะห์ในเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอชี้ในเชิงเป็นห่วงไว้ว่า… หาก “มาตรการ คลายไม่ดีพอ” ก็อาจทำให้ “ต้องหวนกลับไปเจอมาตรการทุบ” อีก!! โดยดูได้จากกรณีศึกษาในบางประเทศ ที่ได้ผ่อนคลายมาตรการเข้มต่าง ๆ แล้วพบเชื้อโควิด-19 กลับมาระบาดน่าห่วงอีกหน ซึ่งช่วงแรกที่คลายก็อยู่ในกลุ่มควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่แล้วก็กลับพบการระบาดหนักใหม่อีกหนหลังจากได้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาด ซึ่ง…

ไทยก็ “ยังจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง”…

“หลังไทยเปิดประเทศกว้างมากขึ้น” ยิ่งต้องระวัง!!

ทั้งนี้ กับ สัญญาณ ที่คนไทยเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ ยังต้องสังเกตเผื่อ ๆ ไว้” โดยเฉพาะเมื่อจะตัดสินฮึดลงทุนทำมาหากินรับยุคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ก็มีข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวข้างต้นชี้ไว้ว่า… “มี 4 สัญญาณเตือน” ได้แก่… 1. มีจำนวน “ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทวีคูณ” ต่อเนื่อง, 2. มี “ผู้ป่วยแพร่เชื้อซ่อนอยู่” ในชุมชน, 3. ประชาชน “เริ่มกลับมามีพฤติกรรมเสี่ยง” มากขึ้น, 4. มีจำนวน “ผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องการ ICU เกินขีดความสามารถ” ในการดูแล ซึ่งถ้าหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้…จากที่เริ่มกระชุ่มกระชวยกับ “มาตรการคลาย” คนไทยเรา ๆ ท่าน ๆ ก็มีโอกาสเครียดหนักกับ “มาตรการทุบ” กันอีกรอบ!!

แม้จะคลาย…แต่ทั้งรัฐและประชาชนยังต้องใส่ใจ…

ยังต้องระวังโควิด… ป้องกันมันระบาดหนักซ้ำ”

ไม่เช่นนั้นจะเจอพิษทุบน่วมซ้ำทั่วหน้าอีก!!!” .