แต่ตอนนี้มีคดีใหญ่ ๆ ที่ผู้คนในสังคมสนใจกันมาก รวมถึงมีหลายฝ่ายตั้ง “ข้อสังเกต” ถึง “ความล่าช้า” ของคดี ซึ่งก็ยิ่งทำให้สังคมไทยเฝ้าติดตามใกล้ชิดว่าที่สุดแล้วจะเป็นเช่นไร?? อย่างไรก็ตาม กับ “คดีความผิดทางเพศ” ในภาพรวมนั้น ว่าด้วย “มุมเหยื่อมุมผู้เสียหาย” กรณีนี้ก็มีบทความวิชาการใน เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ ที่น่าสนใจ…

มี “มุมวิเคราะห์” เกี่ยวกับ “อุปสรรคของเหยื่อ”

เมื่อ “ถูกล่วงละเมิดทางเพศ” แล้ว “ดำเนินคดี”

ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อให้พิจารณากัน…

ทั้งนี้ บทความนี้มีชื่อว่า “สู้ให้ชนะ : บนความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายในคดีการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ” โดย ดร.บุญวรา สุมะโน และ ชาตบุษย์ ฮายุกต์ ซึ่งได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้สรุปได้ว่า… การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น 2 กรณี ที่เกิดกระแสครึกโครมสังคมไทยในตอนนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาว่าเคยก่อเหตุลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้งในอดีต ซึ่งก็นำสู่การตั้ง “คำถาม” ของสังคมว่า… เหตุใดไม่สามารถเอาผิดตั้งแต่เมื่อกระทำผิดครั้งแรก?? จนมีเหยื่อจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ในบทความที่มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอดังกล่าว ก็ได้มีการระบุไว้ว่า… มิอาจปฏิเสธว่า… ประเทศไทยยังมีช่องว่างในกระบวนการยุติธรรม” และมีปัญหาจากค่านิยมทางสังคม” ที่ทำให้ผู้เสียหาย” จากการถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศนั้นต้องเผชิญกับความเสียเปรียบอยู่หลายประการ” จนมีคำกล่าวว่า… “ถึงสู้ไปก็ไม่ชนะ!!!” โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดคำกล่าวดังกล่าวนี้ กรณีนี้อาจสามารถแบ่งออกตามขั้นตอนการดำเนินคดี…

ที่ฉายภาพให้เห็นถึง “ความเสียเปรียบของเหยื่อ”

กล่าวสำหรับ “ช่องว่าง-ปัญหา” ที่ทำให้ “เหยื่อเสียเปรียบเมื่อเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ทางคดี” นั้น ในบทความได้ระบุไว้ว่า… เริ่มต้นจาก ขั้นแรกคือ “การแจ้งเหตุ” โดยจากค่านิยมที่ชายเป็นใหญ่ และมักจะด้อยค่าผู้หญิง ที่ยังฝังรากลึก จึงทำให้ที่ผ่านมาเมื่อเกิดกรณีความผิดเรื่องเพศ ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ค่านิยมนี้ยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งเหตุ หรือตัดสินใจแจ้งความ เหยื่อมักจะถูกถามหาถึงพยานหลักฐานที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรม ที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียหายโดนคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ เจ้าหน้าที่ถึงจะรับแจ้งความไว้ จนทำให้ “เหยื่อเหมือนถูกคุกคามซ้ำ!!

นอกจากนี้ “ข้อจำกัดด้านบุคลากร” ก็นับเป็นอีก สาเหตุช่องว่าง-ปัญหา ที่ทำให้การแจ้งเหตุคดีความผิดในลักษณะนี้มีน้อยมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยปี 2564 ทั่วประเทศมีพนักงานสอบสวนหญิงแค่ 700 คน หรือไม่ถึง 10% ของพนักงานสอบสวนทั้งหมด ที่มีอยู่ทั้งประเทศประมาณ 10,000 คน ทำให้สถานีตำรวจบางแห่งไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำอยู่ โดยที่เหยื่อไม่กล้าที่จะเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนผู้ชายฟัง และอีกกรณีคือปัญหาที่เกิดกับ กลุ่มแรงงานข้ามชาติหญิง ซึ่งก็พบ “ข้อจำกัดในการแจ้งความ” เนื่องจากมักจะ ขาดล่ามแปลภาษาประจำสถานีตำรวจ

ส่วน ขั้นที่สองคือ การสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน” ซึ่งหลายกรณีผู้เสียหายต้องกลับไปสถานที่เกิดเหตุเพื่อแสดงให้ตำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้น ที่เป็นขั้นตอนที่สร้างความอับอายและ “ซ้ำเติมจิตใจผู้เสียหาย!!” รวมถึงการที่ฝ่ายผู้กระทำผิดพยายามใช้หลักฐานอื่นโจมตีผู้เสียหาย เช่น ข้อความเชิงชู้สาว รูปถ่ายในชุดวาบหวิว หรือแม้แต่การที่ผู้เสียหายไม่ปฏิเสธพฤติกรรมคุกคามอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากกฎหมายมองว่าหากมีความ “ยินยอม” เกิดขึ้น การกระทำผิดที่กล่าวอ้างย่อมไม่ถือว่าผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องร้องหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ซึ่ง การพิสูจน์ความยินยอมมีประเด็นที่ซับซ้อน…

อาจยิ่ง “ส่งผลเสีย” ต่อตัวของเหยื่อผู้เสียหาย

ขั้นที่สามคือ การดำเนินคดีในศาล” การพิจารณาคดีในคดีอาญานั้นจะใช้ระบบกล่าวหา ผู้เสียหายต้องพิสูจน์ว่าถูกกระทำจริง ซึ่งหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ จะทำให้ผู้กระทำพ้นข้อกล่าวหา ซึ่ง การเล่าเหตุการณ์อย่างละเอียดในศาลอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายของเหยื่อ โดยเฉพาะเมื่อถูกตั้งคำถามถึงความยินยอมที่สื่อในทางกล่าวโทษผู้เสียหาย เช่น แต่งกายยังไง ดึกดื่นออกมาทำไม อีกทั้งมีประเด็น บทลงโทษที่ไม่จูงใจให้เอาผิด อาทิ กรณีไม่เข้าข่ายอนาจารหรือข่มขืนนั้น เป็นเพียงความผิดลหุโทษ มีโทษสูงสุดเพียงจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่านั้น…

และ ขั้นสุดท้ายคือ การชดเชยและช่วยเหลือเหยื่อ” แม้ผู้เสียหายจะขอรับค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ หรืออื่น ๆ ได้ตามกฎหมาย แต่ก็ยังคงจำกัดความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายไว้ โดยต้องเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศที่เป็นการข่มขืนกระทำชำเราหรืออนาจารเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมไปถึงการทำให้เหยื่อขายหน้า หรือรังแกข่มเหงคุกคาม จนทำให้เหยื่อได้รับการเยียวยาน้อยกว่าความผิดอื่น ๆ …นี่เป็นอีก “ช่องว่าง” ที่บทความดังกล่าวได้สะท้อนไว้

ทั้งนี้ ประเด็นมายาคติ “ชายเป็นใหญ่” และ “อ้างยินยอม” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนไปบ้างแล้ว ขณะที่ภาพรวมกรณี “เหยื่อเผชิญความเสียเปรียบเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ดังที่บทความนี้ระบุไว้…ก็ “น่าคิด”

“คุกคามทางเพศ-ละเมิดทางเพศ” ไทยเกิดคดีมาก!!

ดูเหมือน “มีหลายประเด็นเอื้อให้กล้ากระทำผิด?”

“เหยื่อกล้าสู้กลับด้วยคดีกลับเสียเปรียบ???”.