ในระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองในระดับนานาชาติมาก ว่า จะเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาเข้ามาในอาเซียนเพื่อคานอำนาจกับจีนหรือไม่ ทั้งด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจเพราะอาเซียนจัดเป็นอนุภูมิภาคที่มีความสำคัญทางการค้าขายและการลงทุน โดยเฉพาะประเทศไทย การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( อีอีซี ) ต้องการนักลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อกู้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเป็นการแสดงบทบาท ศักยภาพในเวทีโลกของตัวนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งพ่วงกับการที่ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน

ไทยได้อะไร และไทยต้องแสดงท่าทีอย่างไรกับชาติมหาอำนาจ ดร.เอนกชัย เรืองรัตนากร นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียนได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมอาเซียน-สหรัฐอเมริกาครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งแรกประชุมไปเมื่อปี ค.ศ.2016 ในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา และต่อมาก็ติดสถานการณ์โควิด หลังจากนั้นเป็นช่วงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งจัดการปัญหาภายในประเทศกับปัญหาของละตินอเมริกา การถอนทหารจากตะวันออกกลาง  จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาเซียนมากนัก  ทำให้ในช่วงนั้นจีนมีบทบาทในอาเซียนมากขึ้น และบางประเทศในอาเซียนก็มีปัญหากับสหรัฐอเมริกา เช่น ฟิลิปปินส์ ที่นโยบายปราบปรามยาเสพติดถูกสหรัฐอเมริกามองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือกัมพูชาที่สมเด็จฮุนเซ็นถูกครหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรื่องผลเลือกตั้ง”

“ที่สำคัญคือการรัฐประหารในเมียนมา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับภูมิภาคอาเซียนหายไป การกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ คือการกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ของรัฐบาลโจ ไบเดน  ซึ่งมาในรูปแบบของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันหลังโควิด มีแถลงการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องคือเรื่องความร่วมมือทางทะเล เรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค  มันมีประเด็นหลักๆ 4 อย่าง คือ 1.ความมั่นคง 2. ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 3.การขยายอำนาจของประเทศ 4.เกียรติภูมิของประเทศ”

ไบเดนร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งแรกในรอบ 4 ปีของผู้นำสหรัฐ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก มีการเข้าพบภาคเอกชนขนาดใหญ่เพื่อให้เข้ามาร่วมลงทุน อาทิ เชฟรอน แมริออต โบอิ้ง และกลุ่มทุนขนาดใหญ่อื่นๆ เพื่อให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ให้สหรัฐฯ เข้ามามี ‘บทบาทอย่างสร้างสรรค์’ในภูมิภาค  และนายกฯ ได้แสดงท่าทีเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขอให้ยุติโดยเร็ว ซึ่งเป็นการแสดงบทบาททางมนุษยธรรม  แต่สิ่งที่ไทยยังขาดไปคือการแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา ซึ่งควรจะแสดงจุดนี้เพิ่มขึ้น มันเป็นเกียรติภูมิของประเทศ”

“การแสดงบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์นี้ มันมีความเกี่ยวข้องกับที่ว่า อีกไม่นาน ไทยจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์โดนโจมตี ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศเรื่องการเข้าสู่อำนาจต่ภาพการเข้าพบ จับมือโจ ไบเดน สร้างกำลังใจให้กลุ่มสนับสนุน กลุ่มที่ยังชื่นชมพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการยอมรับและมีบทบาทในเวทีโลกผ่านทางถ้อยแถลงต่างๆ มันมีนัยยะของสิ่งที่เรียกว่า election politic ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงการที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดเอเปคปลายปีนี้ ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงภาวะความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ ในการโน้มน้าวให้เกิดข้อตกลงต่างๆ ทั้งการลงทุน การใช้พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเสียดายคือ ถ้าไทยได้แสดงบทบาทต่อสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมาชัดเจนกว่านี้ จะสร้างคะแนนนิยมต่อนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ประธานาธิบดีเมียนมา เป็นไปในลักษณะพี่น้องกัน เราเลยไม่แตะอะไรที่เป็นความขัดแย้ง ไม่ดึงให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา และขณะนี้กัมพูชาคือประธานอาเซียน ก็ค่อนข้างประนีประนอมกับเมียนมา สมเด็จฮุนเซ็นเองก็ถูกข้อครหาเรื่องการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม”

มิน อ่อง หล่าย" รวมข่าวเกี่ยวกับ "มิน อ่อง หล่าย" เรื่องราวของ"มิน อ่อง  หล่าย"

เมื่อถามว่า การประชุมอาเซียน – สหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา โอกาสทางเศรษฐกิจสำคัญที่ไทยได้รับคืออะไร ดร.เอนกชัย กล่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์ได้เจรจากับนักธุรกิจและหอการค้าสหรัฐอเมริกา และ National Center Of APEC ในลักษณะเจรจาระหว่างมื้ออาหารเช้า ( Breakfast round table ) ซึ่งการที่มีตัวแทนเอเปคเข้ามา ก็เป็นส่วนสำคัญในการดึงนักธุรกิจเข้ามาลงทุน และไทยเองก็ได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในการประชุมเอเปคปลายปีนี้ เรียกว่า การประชุมนี้คือตัวนำร่องสำคัญของเอเปค แต่การประชุมเอเปคนั้น ไทยจะประสบความสำเร็จได้ ตัวแปรที่สำคัญคือ 1.ลดปัญหาทางการเมืองในประเทศได้อย่างเหมาะสม เพราะหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยมาก”

2.การจัดการปัญหาการแก้ไขโรคระบาดโควิด-19 ในไทยทำเร็จแค่ไหน อย่างไร ถ้ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ กระจายวัคซีนได้ทั่วถึง นักลงทุนจะมองว่าเรามีศักยภาพ โดยเฉพาะการลงทุนเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุข 3.การแสดงบทบาทเป็นผู้นำอาเซียน มีการจับตามองการแสดงบทบาทอะไรของไทยก่อนการประชุมเอเปค อย่างน้อยเรื่องสิทธิมนุษยชน ในเมียนมา เราก็เพิ่งทำมาในช่วงปลายปีก่อน แต่ทำอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นข่าวในสำนักข่าวของเมียนมา คือการมอบวัคซีนช่วยเหลือประชาชนในเมียนมา”

เมื่อถามว่า ความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐฯ จะมีผลอย่างไรต่อจีน ดร.เอนกชัย กล่าวว่า “จีนก็คงต้องจับตาอาเซียนมากขึ้น ว่า แถลงการณ์ร่วมอาเซียนกับสหรัฐฯ จะมีผลแค่ไหนอย่างไร สหรัฐฯ จะประกาศช่วยเหลืออาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร การลงทุนในภูมิภาคมีเม็ดเงินเท่าไร ยังพูดได้ยากว่า จีนจะมีท่าทีอย่างไร แต่อ่านข้อตกลงร่วม แค่บอกกว้างๆ อย่างเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการศึกษาและด้านอื่นๆ ซึ่งจริงๆ ถ้าเป็นสัญญาลงนามทางการมันต้องเข้าสภา ฯ แต่นี่ยังเป็นการลงนามที่ไม่ทำให้เกิดพันธกรณีใดๆ ระหว่างประเทศ เท่ากับทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ จีนอาจมองว่า มันยังเป็นสัญญาที่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย”

และถ้าเกิดสิ่งที่อยู่ในแถลงการณ์ร่วมไม่เกิดขึ้นจริง จีนก็อาจเสนอโอกาสอื่นๆ ให้อาเซียนในเรื่องที่ต่างออกไป เพื่อสร้างความสัมพันธ์มากขึ้นไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในอนุภูมิภาคนี้มากนัก เรื่องเหล่านี้เป็นฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ประโยชน์หลักของไทยคือ การเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอีอีซี ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ และการประชุมเอเปค”

В Нур-Султане обсудили торговлю зерном и масличными культурами - CGTN на  русском

“แต่ที่ต้องจับตาคือหากในช่วงที่มีการประชุมเอเปคใหญ่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังดำเนินต่อไป ไทยต้องบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ วางเกมทางการเมืองเป็นว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้ามามากที่สุด อาจต้องถึงขั้นแบ่งวงเจรจาเป็นวงของอเมริกากับพันธมิตร วงของรัสเซียกับพันธมิตร หรือถ้ามีจีนเข้ามาเป็นตัวแปรอีกไทยก็ต้องดำเนินการทางการทูตอย่างระมัดระวัง พล.อ.ประยุทธ์ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือเรื่องนี้  เพราะนี่คือเรื่องเกียรติภูมิของประเทศไทย และถ้าสามารถรับมือได้ดีจะเป็นผลดีกับการลงทุนและความเชื่อมั่น”

ดร.เอนกชัยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าขณะนี้ไทยมีศักยภาพรองรับในเรื่องการลงทุนโรงงาน เทคโนโลยียานยนต์ อย่างที่ประกาศว่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อีวีในอีอีซี  ซึ่งมีข่าวว่า ไทยเตรียมหยิบเรื่องเขตอุตสาหกรรมทวาย ที่เคยเสนอในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะทำ แต่ก็ยุติโครงการไปเพราะปัญหาหลายๆ อย่าง ซึ่งหากเปิดเรื่องเขตอุตสาหกรรมทวายใหม่ ก็จะเป็นท่าเรืออีกฝั่งและรองรับการลงทุนจากต่างชาติได้เพิ่ม”

นี่ก็คือภาพรวมเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เกียรติภูมิของประเทศ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามให้ไทยมีที่ยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”