ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 แต่ได้เลื่อนให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 1 มิ.ย.ปีนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับ “สิทธิส่วนบุคคลด้านข้อมูล” ถือเป็น “กฎหมายใกล้ตัวคนไทย” อีกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ “ธุรกรรมออนไลน์-โซเชียลมีเดีย” รูปแบบต่าง ๆ แพร่หลาย ซึ่งมีความยึดโยงกับ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ด้วย โดยในมุมหนึ่งเปรียบเสมือน “สมุดบันทึกกิจกรรมออนไลน์” ที่…

สามารถ “บ่งบอกให้ผู้อื่นทราบถึงสิ่งที่สนใจ”

ถือว่าเป็น “หลักฐานสำคัญทางโลกออนไลน์”

อนึ่งก่อนที่จะถึงวันดีเดย์ที่กฎหมายคุ้มครอง “ข้อมูลส่วนบุคคล” มีผลบังคับใช้ อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสจากสังคมบางส่วนที่ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง แสดงความรู้สึกกังวล เกี่ยวกับ “มาตรการป้องกันข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล” กันมาแล้ว เนื่องจากหลาย ๆ คนมองว่า… หากข้อมูลเหล่านี้เกิดกรณี “ข้อมูลรั่วไหล” อาจถูก “มิจฉาชีพ-ผู้ไม่หวังดี” นำไปใช้ในทางที่ทำให้เสียหายหรือเสื่อมเสียได้ ซึ่งกรณีลักษณะนี้ก็มิใช่ไม่เคยเกิด…ที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตาม “ความสำคัญ” ของ “ข้อมูลส่วนบุคคลในโลกออนไลน์” นั้น ครั้งหนึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยชี้ให้ “คนไทยต้องใส่ใจ” เรื่องนี้ไว้เช่นกัน ซึ่ง…

ข้อมูลเหล่านี้เปรียบได้กับ “ร่องรอยดิจิทัล”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอย้ำเตือนเรื่องนี้กันไว้ณ ที่นี้อีกครั้ง จะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ “ร่องรอยดิจิทัล” มาสะท้อนต่อไว้อีกหน ก่อนที่กฎหมายใหม่ “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” จะมีผลบังคับใช้โดยขอสะท้อนต่อเพื่อเตือนย้ำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญในการ “ระวัง!!” ซึ่ง… “ร่องรอยดิจิทัลคืออะไร??” ก็มีคำอธิบายโดย ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล ใน เว็บไซต์คลังความรู้ www.scimath.org สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยี (สสวท.) ที่อธิบายไว้ว่า…

“ร่องรอยดิจิทัล” หรือ “ดิจิทัล ฟุตพรินท์ (Digital footprint)” นั้น เป็น “ร่องรอยที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกระทำลงในโลกดิจิทัล” เช่น… การใช้งานอัพโหลดข้อมูลส่วนตัว, การส่งหรือแชร์ไฟล์งานและรูปภาพ, การใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดย ระบบอินเทอร์เน็ตนั้นจะทำการบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานเอาไว้ อย่างเช่น… ชื่อ, วัน-เดือน-ปีเกิด, ตำแหน่งงาน, ผลงาน, ข้อมูลการศึกษา, ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ …ซึ่งข้อมูลที่มีการยกตัวอย่างเหล่านี้นี่แหละ…ที่คือ…

“ร่องรอยดิจิทัล” ที่มีอยู่ “ในโลกไซเบอร์”

โฟกัสที่ “ประโยชน์ของร่องรอยดิจิทัล”… ข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… มีประโยชน์คือช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น เช่น… ในการกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในช่องกรอกข้อมูลของเว็บไซต์ จะช่วยให้ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ เพราะระบบบันทึกข้อมูลเอาไว้แล้ว และเหตุนี้ ร่องรอยดิจิทัลจึงเป็นเสมือนสมุดบันทึกกิจกรรมออนไลน์ ของผู้ใช้งาน

ในขณะที่ “ประเภทของร่องรอยดิจิทัล” นั้น ในแหล่งข้อมูลเดิมก็ระบุไว้ว่า… มี 2 ประเภท ดังต่อไปนี้คือ… 1.ร่องรอยดิจิทัลที่เจตนาบันทึก (Active Digital Footprints) ซึ่งหมายถึงร่องรอยที่ผู้ใช้งานเจตนาบันทึกไว้ และตั้งใจเปิดเผยโดยผู้ใช้รู้ตัว อาทิ… อีเมล, เบอร์โทรศัพท์, ชื่อโปรไฟล์, เฟซบุ๊ก ตลอดจน… สิ่งที่ตั้งใจโพสต์ลงสื่อโซเชียล เช่น… สิ่งที่เคยพูด รูปที่เคยถ่าย ที่เคยกดไลค์ เคยรีทวีต หรือเคยแชร์ เป็นต้น รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับ ที่ตั้งสถานที่ ที่อยู่ หรือที่เคยไป

2. ร่องรอยดิจิทัลที่ไม่ได้เจตนาบันทึก (Passive Digital Footprints) ซึ่งผู้ใช้อาจไม่มีเจตนาบันทึก หรือบันทึกไว้โดยไม่ตั้งใจ หรือไม่รู้ตัว เช่น… IP Address กับ ประวัติการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ รวมถึง สิ่งที่เคยคลิกเข้าไปดู และประวัติการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือแม้แต่การเปิดใช้ระบบ GPS เป็นต้น …ซึ่งไม่ว่าจะ “เจตนาบันทึก” หรือ “ไม่ได้เจตนาบันทึก” ก็ตาม…

ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็น “ร่องรอยดิจิทัล”

สะท้อนต่อ-สะท้อนย้ำถึงการ “เตือนผู้ใช้งานออนไลน์” ในแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… ในโลกสมัยใหม่ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตแพร่หลาย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรให้ความสำคัญกับร่องรอยดิจิทัลให้มาก โดยมีการระบุเหตุผลไว้ว่า… เพื่อปกป้องชื่อเสียง เพราะ ร่องรอยดิจิทัลสามารถสะท้อนทั้งแง่บวกและลบของผู้ใช้งาน ได้,เพื่อตัดสินใจว่าควรจัดการข้อมูลส่วนตัวอย่างไร ใครควรเห็นหรือไม่ได้เห็นข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้, เพื่อปกป้องทรัพย์สิน เนื่องจาก การขโมยข้อมูลดิจิทัลเป็นอีกช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงให้เหยื่อสูญเสียเงินหรือทรัพย์สิน ได้!!, เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว เช่น… ป้องกันได้รับข้อความสแปม อีเมลที่มีโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาต จนสร้างความรำคาญ

ทั้งนี้ ข้อมูลโดย ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์คลังความรู้ www.scimath.org สสวท. ยังระบุถึง “ร่องรอยดิจิทัล” ไว้ด้วยว่า… การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ใช้อินเทอร์เน็ต ในปัจจุบันผู้ใช้งานควรเพิ่มความระมัดระวังเพิ่มขึ้น และต้องรู้เท่าทันให้มากขึ้น เพื่อป้องกัน “ปัญหาที่อาจตามมาจากข้อมูลหลักฐานดิจิทัล” ต่าง ๆ …และด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด หลาย ๆ คนจับตาเกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่?? ที่ใกล้บังคับใช้ คือ “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ฉบับล่าสุด…

เมื่อกฎหมายฉบับนี้ “บังคับใช้แล้ว…จะอย่างไร??”

เรื่องนี้ก็ “มีบทวิเคราะห์โดยนักวิชาการ” ไว้เช่นกัน

นี่ก็ “น่าสนใจ-น่าพิจารณา” …ตอนหน้ามาดูกัน…