สัปดาห์นี้ พาไปทำความรู้จัก รถไฟทางคู่สายใหม่ ”แม่สอด-นครสวรรค์” มูลค่าการลงทุน 1 แสน 8 พันล้านบาท ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาเสร็จหมาดๆ เตรียมเสนอขออนุมัติโครงการให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็ว ๆ นี้

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อเตรียมก่อสร้าง ทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร (กม.) เสร็จเรียบร้อย และเสนอรายงานการศึกษาฯ ฉบับสมบูรณ์ให้ รฟท.พิจารณาแล้ว

โครงการนี้ถือเป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ที่จะทำให้เส้นทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) จากแม่สอด-นครพนม มีโครงข่ายสมบูรณ์มากขึ้น โดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และช่วงบ้านไผ่-นครพนม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การขนส่งสินค้า และการสัญจรเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา สะดวกมากขึ้น

ผลการศึกษาสรุปได้ว่าการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครสวรรค์กำแพงเพชรตากแม่สอด มีความคุ้มค่า และเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ มีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 13.47% ควรได้รับการพัฒนาตลอดทั้งเส้นทางในคราวเดียวกัน มีวงเงินลงทุน 1.08 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 1.01 แสนล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3.89 พันล้านบาท และค่าบริการที่ปรึกษา 2.68 พันล้านบาท แนวเส้นทางรถไฟเริ่มต้นที่สถานีบึงเสนาท อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่สถานีด่านแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก มีสถานีรวม 27 แห่ง

เบื้องต้นการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 สัญญา

สัญญาที่ 1 ช่วงปากน้ำโพ (นครสวรรค์)-กำแพงเพชร กม.0+000 ถึง กม.183+000 ระยะทาง 183 กม. มี 23 สถานี ค่าก่อสร้าง 3.69 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2.66 พันล้านบาท เป็นทางระดับพื้น 178.6 กม. ทางยกระดับ 5.8 กม. สะพาน 264 แห่ง และทางยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) 6 แห่ง

สัญญาที่ 2 ช่วงกำแพงเพชรตาก กม.183+000 ถึง กม.217+025 ระยะทาง 34 กม. มีสถานี 1 แห่ง ค่าก่อสร้าง 3.37 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 254 ล้านบาท เป็นทางระดับพื้น 8 กม. ทางยกระดับ 10.5 กม. และอุโมงค์ 1 แห่ง (15.5 กม.)

สัญญาที่ 3 ช่วงตากแม่สอด กม.217+025 ถึง กม.250+020 ระยะทาง 33 กม. มีสถานี 3 แห่ง ค่าก่อสร้าง 3.12 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 975 ล้านบาท เป็นทางระดับพื้น 9.7 กม. ทางยกระดับ 10.1 กม. อุโมงค์ 3 แห่ง (14.2 กม.) สะพาน 1 แห่ง Overpass 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงเบา (Light Maintenance) 1 แห่ง

หากได้รับการอนุมัติ รฟท. วางไทม์ไลน์เริ่มจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ราคากลาง และเปิดประมูลได้ภายในปี 66 เริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 67 แล้วเสร็จปลายปี 72 และเปิดให้บริการปี 73

คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร พบว่า ปีแรกของการเปิดให้บริการช่วงนครสวรรค์-ตาก จะมีผู้โดยสาร 10.91 ล้านคน-เที่ยว/ปี และช่วงตาก-แม่สอด 9.48 ล้านคน-เที่ยวต่อปี ปี 2583 ช่วงนครสวรรค์-ตาก ผู้โดยสาร 17.30 ล้านคน-เที่ยว/ปี และช่วงตาก-แม่สอด 14.12 ล้านคน-เที่ยว/ปี ส่วนปี 2593 ช่วงนครสวรรค์-ตาก ผู้โดยสาร 24.72 ล้านคน-เที่ยว/ปี และช่วงตาก-แม่สอด 20.17 ล้านคน-เที่ยว/ปี ปี 2602 ช่วงนครสวรรค์-ตาก ผู้โดยสาร 31.54 ล้านคน-เที่ยว/ปี และช่วงตาก-แม่สอด 25.74 ล้านคน-เที่ยว/ปี

โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด มี 27 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย 1.จังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ สถานีบึงเสนาท, บ้านมะเกลือ, มหาโพธิ์, หัวดง, บางตาหงาย, เจริญผล, ตาขีด 2.จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ สถานีป่าพุทรา, ยางสูง, วังแขม, วังยาง, ท่ามะเขือ, วังบัว, คณฑี,เทพนคร, กำแพงเพชร, หนองปลิง, ลานดอกไม้, โกสัมพี 3.จังหวัดตาก ได้แก่ สถานีวังเจ้า, วังหิน, หนองบัวใต้, ตาก, ด่านแม่ละเมา, แม่ปะ, แม่สอด และด่านแม่สอด

77จังหวัดของประเทศไทย มี โครงข่ายทางรถไฟรวม 4,044 กม. ใน 46 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ส่วนอีก 30 จังหวัดยังไม่มีเส้นทางรถไฟ ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี เลย เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ สตูล ภูเก็ต และสมุทรปราการ

ความฝันของประชาชนที่จะมีรถไฟผ่านหน้าบ้านกำลังจะเป็นจริง