มันก็เป็นวาระที่เมื่อถึงเดือนมิถุนายน ก็จะเป็นเดือนของ การเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ หรือเรียกว่า เป็นการจัด งานไพรด์ (pride) กลุ่มหลากหลายทางเพศหรือ LGBTIQ+ ประกาศตัวภูมิใจในเพศสภาพและเพศวิถีของตัวเองว่า คือความสวยงามของความหลากหลายแห่งอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องอับอายหรือปกปิด และสังคมควรต้องยอมรับ ให้ความเคารพกับทุกอัตลักษณ์อย่างเท่าเทียมกัน

ในปีนี้กรุงเทพฯ ก็ได้จัดงานที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นไพรด์ ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา คืองานบางกอกนฤมิตไพรด์ ซึ่งยอมรับว่าตอนแรกก็ไม่คิดว่าคนจะมาร่วมเยอะนักเพราะค่อนข้างประกาศล่วงหน้ากระชั้นไปหน่อย นักท่องเที่ยวมาไม่น่าจะทัน แต่เอาจริงก็เรียกได้ว่ามากันพอสมควร แม้จะไม่ใหญ่ขนาดไพรด์ในประเทศทางยุโรปหรืออเมริกา กระทั่งไต้หวัน แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี ที่ปีต่อๆ ไปแต่ละฝ่ายจะได้รวมตัว ประสานงานจัดงานไพรด์ให้ดีขึ้น แต่กลุ่ม LGBTIQ+ ไทยก็ต้องสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ใช่อีโก้ แบ่งว่าอีนี่สลิ่มอีนี่สามกีบ ฉันไม่ทำงานร่วมกับมัน หรือประเภทว่างานนี้ฉันไม่เด่นฉันไม่เอาคนมาร่วม อะไรอย่างนี้

LGBTIQ+ ก็มีวาระเดียวกัน คือ การได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ดังนั้น ก็จับมือช่วยกันผลักดันให้เกิดความเข้มแข็ง ให้คนในรัฐสภารับฟังดีกว่า ตอนนี้ “วาระแรก” ที่เตรียมจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เกี่ยวกับ LGBTIQ+ คือเรื่อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) หลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับการสมรส โดยมี “สารตั้งต้นที่ ปพพ.ม.1448 “ชายและหญิง” สมรสกัน ให้เปลี่ยนเป็น “บุคคล”

แต่มันก็ลากไปกระทบมาตราอื่นอีก เพราะกฎหมายไทยมีการแบ่งเพศจากคำ เช่น “สามี-ภรรยา” , “บิดา-มารดา” ดังนั้นต้องแก้กันเยอะมาก เรื่องนี้รัฐบาลโดยกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เห็นว่า ถ้าเช่นนั้นก็ควรทำเป็น “กฎหมายต่างหาก” สำหรับคู่สมรสเพศเดียวกัน คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ซึ่งยกร่างกันมาหลายรอบแล้ว และให้สิทธิอะไรแทบจะเท่าเทียมกับ ปพพ. ขาดไปบางเรื่อง…แต่บางทีมีการไปเอาอินโฟรกราฟิกเก่ามาแชร์ทำให้เห็นว่า สิทธิมันขาดไปหลายอย่าง จนแทบจะเหมือนว่าเหลือสิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการฟ้องชู้ จริงๆ มันมีสิทธิในตัดสินใจสุขภาพด้วย รับบุตรบุญธรรมก็ได้

ทางฝ่ายที่ไม่ชอบเขาก็ว่า ทำไมเขาถึงไม่ได้ใช้กฎหมายเดียวกับชายหญิง ซึ่งจริงๆ แล้ว การออกกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันมันมีการพัฒนาการได้ อย่างในต่างประเทศก็ไม่ได้เริ่มจากอยู่ๆ ได้สมรสเพศเดียวกันสิทธิเท่าเทียมชายหญิง เริ่มจากกฎหมายสิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน แล้ว เพิ่มสิทธิไปเรื่อยๆ ในบางประเทศมีกฎหมาย “จดทะเบียน” หลายระดับด้วยซ้ำ อย่างจดแค่เพื่อจัดการทรัพย์สินก็ฉบับหนึ่ง จดเพื่อได้รับสิทธิเท่าสมรสก็อีกฉบับหนึ่ง..แต่ก็เข้าใจหลายคนที่ต้องการให้ได้กฎหมายที่ “สมบูรณ์แบบ” ทีเดียว เพราะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องมานานแล้ว

สิ่งสำคัญที่เขาต้องการกันในกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ “การรับสวัสดิการคู่สมรสที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ พิจารณายาก เพราะมันเป็น กฎหมายการเงิน และรัฐไม่มีการทำสำมะโนประชากรว่ากลุ่ม LGBTIQ+ ในประเทศไทยมีจำนวนเท่าไรที่จะไปเพิ่มงบประจำ (งบเงินเดือน งบสวัสดิการ) ตรงนี้ได้ และอีกประเด็นหนึ่งที่เขาต้องการคือรัฐต้องรับรองการสมรสกับคนต่างชาติด้วย

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับ การอุ้มบุญ นั้น มันไปเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ก็ต้องไปพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ตัวนั้นประกอบ

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะถูกคว่ำ มีสูงมาก เพราะ

  1. เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้าน และรัฐบาลมีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอยู่แล้ว
  2. มี ส.ส.แนวคิดอนุรักษ์นิยมบางส่วนที่ไม่โหวตให้ เผลอๆ อาจไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมทำสภาล่มเสียอย่างนั้น กระแสตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมันมีมากขึ้นจริง แต่ในต่างจังหวัด ในพื้นที่อนุรักษนิยมมันก็ยังไม่ให้การยอมรับเท่าไรนักหรอก โดยเฉพาะชุดความเชื่อที่ว่าลูกหลานแม้จะเป็น LGBTIQ+ ก็ต้องแต่งงานกับคนต่างเพศเพื่อมีทายาทสืบสกุลไม่ให้หายไป ..ชุดความเชื่อนี้ยังกดดันอยู่หลายครอบครัว

นอกจากเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTIQ+ โดยเฉพาะกลุ่ม T หรือทรานสเจนเดอร์ กลุ่มข้ามเพศ ก็มีการผลักดันอยู่ในไทย คือ ร่าง พ.ร.บ.เพศสภาพ หรือ พ.ร.บ.รับรองเพศ ที่ผลักดันโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการให้สิทธิตามเพศใหม่กับกลุ่มข้ามเพศ เช่น เคยเป็นชาย พอข้ามเพศเป็นหญิงก็ได้สิทธิตามแบบผู้หญิงได้ โดยเฉพาะคำนำหน้านาม ซึ่งก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาสำคัญคือ “ต้องมีการผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่” กลุ่มข้ามเพศบางคนเขาก็ไม่ต้องการการผ่าตัด กลุ่มที่ต่อต้านเขาก็มี เคยคุยกับผู้ชายแท้บางคน เขาก็ไม่อยากได้ เพราะกลัวถูกกลุ่มทรานส์หลอกให้แต่งงานทั้งที่เขาต้องการมีลูก แต่ส่วนตัวคิดว่า ..ถ้ารักกันก็ไม่ปกปิดกัน..

กฎหมายหนึ่งที่หลายคนลืมไป แต่บางประเทศรู้ว่าควรมี อย่างโปรตุเกส มอลตา คือ กฎหมายสำหรับกลุ่ม I หรือ Intersex คือเด็กที่เกิดมามีสองเพศโดยกำเนิด (หรือเรียกว่ากะเทยแท้) เด็กพวกนี้จะถูกพ่อแม่เลือกเพศให้ แต่ในสองประเทศที่กล่าวมา มีกฎหมายให้เด็กตัดสินใจเลือกเพศเอง เพราะบางทีเพศที่พ่อแม่เลือกให้อาจไม่ใช่ตัวตนที่เขาต้องการจริงๆ เด็กที่เป็น intersex อาจมีจำนวนน้อย แต่กฎหมายก็ควรต้องมีไว้สำหรับทุกคนที่ต้องการใช้

สำหรับในต่างประเทศ มีอีกกฎหมายหนึ่งที่..ไม่แน่ใจว่าจำเป็นกับสังคมไทยแค่ไหน เพราะกลุ่ม LGBTIQ+ บ้านเราค่อนข้างถูกมองเป็นปกติ (คิดว่า ใช้คำนี้ดีกว่าคำว่ายอมรับ) คือ กฎหมายที่เพิ่มโทษการทำร้าย LGBTIQ+ ด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (hate crime) ในบางประเทศเริ่มมีแล้ว บางประเทศก็กำลังพิจารณา อย่างบราซิล เป็นประเทศที่มีการฆ่ากลุ่มข้ามเพศเพราะความเกลียดชังหลายคดี ก็มีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้

นอกจากกฎหมาย ในแต่ละภาคส่วนต่างๆ ก็เริ่มมีกฎเกณฑ์ของตัวเองเพื่อให้ความเคารพ ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ เช่นที่ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ จะให้ยกเลิกคำนำหน้านาม เพราะคำนำหน้านามเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความทุกข์ให้กลุ่มข้ามเพศ คล้ายๆ กับ การเรียกชื่อเก่าก่อนข้ามเพศ หรือที่ในต่างประเทศรณรงค์กันว่า ห้ามใช้ dead name กับกลุ่มข้ามเพศ เพราะมีผลไปถึงสุขภาพจิตขนาดทำให้เขาฆ่าตัวตายได้

นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. อ.ทริป ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่อง การมองข้ามเพศสภาพ เพศวิถี และมองถึงการทำงานมากกว่า ก็รอดูว่าจะมีการให้ข้าราชการ ลูกจ้างของ กทม. ที่เป็นคนข้ามเพศ แต่งตัวตามเพศใหม่มาทำงานได้เมื่อไร จริงๆ ประเทศไทยมีพัฒนาการเรื่องสิทธิที่ดีมาสักพัก ซึ่ง ถ้าไม่ติดเรื่องโควิด พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ก็จะได้รับการรีวิวเพื่อปรับให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครอง เยียวยา สำหรับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ให้เร็ว รัดกุมมากขึ้น

ก็คงเรียกได้ว่า สถานการณ์ความหลากหลายทางเพศของไทยก็กลางๆ ไม่ดีมาก ไม่เลวร้ายนัก รอดูกฎหมายผ่าน

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”